การพัฒนาอย่างยั่งยืน

SMEs กับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน

ก่อนที่จะอ่านบทความนี้  ผู้เขียนขอแนะนำให้คลิกอ่านบทความก่อนหน้า  คือ

ที่มาของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” 

https://exac.exim.go.th/list-view/20200707111848

Sustainable Business’ เทรนด์โลก ธุรกิจยั่งยืน

https://exac.exim.go.th/detail/20200707111848/20200713103730

สร้างความยั่งยืนด้วย ‘การค้าระหว่างประเทศ’

https://exac.exim.go.th/detail/20200707111848/20200720132926

เทรนด์ธุรกิจยั่งยืน รักษ์โลก VS กีดกันการค้า

https://exac.exim.go.th/detail/20200707111848/20200804190543

ที่แนะนำเช่นนี้ ก็เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจให้ตรงกันในเรื่องของ Sustainability หรือความยั่งยืนว่าคุณเข้าใจคำนี้ดีพอหรือยัง ทำไมเราจะต้องสนใจเรื่องของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน และจะนำเอาเรื่องนี้มาเชื่อมโยงกับธุรกิจของเราได้อย่างไร โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่จะมีคำถามในใจตลอดเวลาว่าเราไปเกี่ยวข้องอะไร และเราต้องสนใจเรื่องนี้ด้วยหรือ ตอนนี้แค่สนใจจะประคองธุรกิจตัวเองให้อยู่รอดก็แทบจะแย่อยู่แล้ว

อย่างที่ได้กล่าวไปในบทความก่อนหน้านี้แล้วว่า ผู้ที่กดดันให้ผู้ประกอบการทั้งหลายต้องหันมาใส่ใจปัญหาของโลก ปัญหาสิ่งแวดล้อม คือผู้บริโภค ที่ยุคสมัยของ Next Normal ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปหมดแล้ว ผู้บริโภคตื่นตัวมากขึ้นกับสภาพความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลันของโลก ปัญหาโลกร้อน อากาศแปรปรวน น้ำท่วมทั่วทุกภูมิภาคของโลก  ดังนั้นหากในกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอน หรือ ขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง การได้มาซึ่งวัตถุดิบ มีการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือมีการละเมิด หรือไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว ผู้บริโถคก็รณรงค์ไม่สนับสนุนให้ซื้อสินค้าเหล่านี้

ทางผู้ประกอบการ SMEs ส่วนหนึ่งตระหนักรู้และเข้าใจและเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อให้เข้ากับกระแสความยั่งยืนแล้ว แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการ SMEs อีกจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจและไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ไม่ให้ความสำคัญและอาจเรียกได้ว่าหลุดไปจากวงโคจรเลยก็ว่าได้

คุณมงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)  กล่าวว่า การที่ผู้ประกอบการ SMEs จะเริ่มทำเรื่องของความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องยากเลย ไม่ต้องใช้เงินมากสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ เพียงแต่ต้องมีความเข้าใจว่า กระบวนการไปสู่ความยั่งยืนมีอะไรบ้าง แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งในหลักการความยั่งยืนของธุรกิจที่ทำกันใช้หลัก ESG  หรือกรอบการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล 

ทั้งนี้ ESG มีองค์ประกอบ 3 ด้านคือ

Environment (การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม) เน้นใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของเรา

Social (การจัดการด้านสังคม) การบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ดูแลความปลอดภัยของพนักงาน ลูกจ้าง  มีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนรอบด้าน

Governance (การจัดการด้านธรรมาภิบาล) คือการมีนโยบายกำกับดูแลกิจการที่ดี ต่อต้านการทุจริต ดำเนินงานอย่างโปร่งใส และดูแลผลประโยชน์ผู้มีส่วนได้เสีย

“ ใน 3 ด้านนี้ สำหรับผู้ประกอบการ SMEs สามารถทำได้ไม่ยุ่งยาก ยกตัวอย่างที่ผมเดินทางไปที่ จ.น่าน ไปดูการผลิตวัตถุดิบสินค้าเกษตรที่เขาส่งออกไปให้กับผู้ผลิตอาหารฮาลาลในมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ส่งออก ข่า ตระไคร้ ใบมะกรูด กระชาย ขิง ฯลฯ  การรวมกลุ่มของเกษตรกรในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เขาจะปลูกแบบปลอดสารพิษ ไม่ใช้สารเคมีเลย ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ใช้นวัตกรรมทางด้านชีวภาพเข้ามาช่วย ทำให้ดินของเขาสมบูรณ์ ผลิตสินค้าที่มีผลผลิตที่สมบูรณ์ดีมาก ผู้เพาะปลูกก็ไม่เจ็บป่วย ผู้บริโภคก็ได้รับประทานสินค้าอาหารปลอดภัย ทำให้มียอดการสั่งซื้อต่อเนื่อง สามาถขายสินค้าได้ในราคาที่ดี อย่างนี้ก็นับว่าเป็นการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ได้ทำอะไรที่ยากและซับซ้อนเลย” คุณมงคล กล่าว

คุณมงคล กล่าวว่า  ตัวอย่างการทำร้านอาหาร ซึ่งเป็นธุรกิจบริการ ทำอย่างไรให้ยั่งยืน สิ่งที่ต้องทำคือการจัดการร้านให้ใช้พลังงานที่เหมาะสม  ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการจัดการ มีการจัดการขยะที่ถูกต้องแยกขยะเปียก ขยะรีไซเคิล นำไปจัดการให้ถูกประเภท การทิ้งน้ำเสียออกจากร้านต้องติดตั้งบ่อดักไขมัน ไม่ทิ้งน้ำมันประกอบอาหารในท่อระบายน้ำ ไม่ใช้โฟมเป็นบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ทำให้สภาพแวดล้อมในย่านที่เราทำการค้าสะอาดน่าอยู่ ไม่สร้างปัญหาให้ชุมชน การดูแลลูกจ้างก็คือการจ่ายค่าแรงให้ถูกต้องตามกฏหมาย เจ็บป่วยก็ดูแล

“เรื่องของความยั่งยืนนั้น ขนาดสินทรัพย์  ยอดขายไม่ใช่ปัญหา จะเล็กหรือใหญ่ไม่สำคัญ ขนาดของทุนก็ไม่ใช่ปัญหา สิ่งที่เป็นปัญหาคือ Mindset ของเจ้าของกิจการต่างหาก  ถ้าคิดถึงส่วนรวม คิดถึงคนอื่น นอกเหนือจากคิดแต่เรื่องกำไรขาดทุน งบการเงิน เรียกว่าดู People, Profit และ Planet คือกำไรต้องมี โลกต้องอยู่รอด และคนในองค์กรต้องแฮปปี้ แล้วหากรรมวิธีที่ดีที่ถูกต้องเข้ามาจัดการก็ยั่งยืนได้ทั้งนั้น  เพียงแต่บริษัทใหญ่อาจจะต้องทำในสเกลที่ใหญ่หน่อย เพราะใช้ทรัพยากรเยอะกว่าเอสเอ็มอีมาก ค่าใช้จ่ายที่อาจจะเพิ่มขึ้นบ้างจะถูก absorb จากการได้ภาพลักษณ์ที่ดีกลับมา ได้ยอดขายมากขึ้น หรือต้นทุนที่ลดลง ได้สิ่งแวดล้อมที่ดีก็นับว่าคุ้มค่าที่จะดำเนินการ”คุณมงคล กล่าว

ดังนั้นการจะเริ่มทำให้ธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน หากมีความเข้าใจและเริ่มทำจากจุดเล็กๆก่อน แล้วค่อยขยายออกไปเมื่อมีความพร้อม ก็ไม่ใช่เรื่องสุดวิสัยที่ผู้ประกอบการ SMEs จะทำได้ และยิ่งทำกันมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น หากมีความข้อสงสัยและต้องการคำปรึกษา สามารถสอบถามได้ที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

 

Author : ชลลดา อิงศรีสว่าง ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า  ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

Most Viewed
more icon
  • ที่มาของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน”

    ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คนไทยจะได้ยินคำว่า “ยั่งยืน” บ่อยครั้งขึ้น หลังจากที่รู้จักความยั่งยืนผ่านทางปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร &nb...

    calendar icon07.07.2020
  • สร้างความยั่งยืนด้วย ‘การค้าระหว่างประเทศ’

    เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับโลกนั้น ได้เน้นไปที่การค้าระหว่างประเทศ เพราะการค้าทำให้เราผลิต เราขุดค้นนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ เพื่อเปลี่ยนเป็นสินค้าส่งออกไปขาย ได้เงินตราเข้าประเทศ ซึ่งในห่วงโซ่เศรษฐกิจที่...

    calendar icon20.07.2020
  • ‘Sustainable Business’ เทรนด์โลก ธุรกิจยั่งยืน

    ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้อ่านบทความนี้ อาจจะมีคำถามในใจว่า เราเป็นเพียงผู้ประกอบการรายเล็กๆ ไปเกี่ยวข้องอะไรกับความยั่งยืน และทำไมจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น ควรจะเกี่ยวข้องแต่กับผู้ปร...

    calendar icon13.07.2020