การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้อ่านบทความนี้ อาจจะมีคำถามในใจว่า เราเป็นเพียงผู้ประกอบการรายเล็กๆ ไปเกี่ยวข้องอะไรกับความยั่งยืน และทำไมจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น ควรจะเกี่ยวข้องแต่กับผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้นหรือเปล่า
ผู้เขียนขอตอบข้อสงสัยในเรื่องนี้ว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนจะต้องตระหนัก ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หรือ ขนาดเล็ก เนื่องจากถูกกดดันมาจากผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้ที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อธุรกิจของเรา ปัจจุบันกลุ่มผู้บริโภค เริ่มไม่ใช้ราคาในการตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าเท่านั้น แต่เริ่มมองลึกลงไปถึงที่มาของสินค้าว่าทำมาจากอะไร การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต มีการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ผู้บริหารมีจริยธรรมไหม มีการศึกษาถึงคุณค่าของแบรนด์ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ มีความตระหนัก ตื่นตัวมากขึ้นกับสภาพความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลันของโลก หากในกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอน หรือ ขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง มีการละเมิดหรือไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว ก็รณรงค์ไม่สนับสนุนให้ซื้อสินค้าเหล่านี้
ตั้งแต่มีอินเทอร์เน็ต ทำให้โลกเชื่อมโยงถึงกัน เมื่อเกิดเรื่องขึ้นในซีกโลกหนึ่ง อีกไม่กี่นาทีทั้งโลกก็จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ข้อมูล ข่าวสาร ล้วนมีส่วนผลักดันให้ผู้ประกอบการต้องหันมาเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและความสนใจของผู้บริโภค อย่างเช่น การรณรงค์เลิกใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า เริ่มมาจากยุโรปและขยายวงกว้างไปในอีกหลายทวีป จนประเทศไทยเองห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อต่างๆงดใช้ถุงพลาสติก 100% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป
เมื่อบริบทของโลกเปลี่ยนแปลงไป คำว่า “ลูกค้า” เริ่มเปลี่ยนเป็น “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” (Stakeholders) นักลงทุนทั้งหลาย รวมทั้งผู้ถือหุ้น ก็เปลี่ยนความรู้สึกจากการเป็นเจ้าของกลายเป็น “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ด้วยเช่นกัน นักลงทุนปัจจุบันไม่ได้มองแค่สัดส่วนหรือตัวเลขทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่ได้หันมาให้ความสำคัญกับข้อมูลอื่น ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นตัวลูกค้าเอง พนักงานในองค์กร เพื่อนร่วมงาน ชุมชน หรือแม้กระทั่งสิ่งแวดล้อมก็ล้วนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงเกิดเป็นเทรนด์ธุรกิจยั่งยืน “Sustainable Business” หรือการดำเนินธุรกิจที่พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นแนวโน้มการดำเนินธุรกิจใหม่ที่องค์กรทั่วโลกกำลังปรับเปลี่ยน
ข้อมูลการประกอบการของภาคธุรกิจที่สะท้อนเรื่องความยั่งยืน ที่นักลงทุนเค้าดูกัน เรียกสั้น ๆ ว่า ESG คือ Environment (สิ่งแวดล้อม), Social (สังคม) และ Governance (การกำกับดูแลกิจการ) ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนทั้งสิ้น
ไม่เพียงเท่านี้ ในอนาคตสถาบันการเงินต่างๆ ที่จะสนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ ก็จะนำเรื่องของการดำเนินกิจการที่ดี และเรื่องของความยั่งยืนมาเป็นส่วนในการพิจารณาสนับสนุนด้วย หากเป็นธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือไม่เคารพกฎหมายก็อาจไม่พิจารณาสินเชื่อให้ เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่ควรจะถูกมองข้ามอีกต่อไป
ผู้ประกอบการรายใหญ่บริษัท ยอมรับว่าการกำหนดทิศทางความยั่งยืนขององค์กรทำให้ธุรกิจได้เปรียบคู่แข่งในการได้รับการยอมรับในมาตรฐานการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งช่วยบริหารความเสี่ยง ปรับปรุงขั้นตอนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด การใช้ทรัพยากรอื่นทดแทน การมองหาทางเลือกใหม่ ๆ และการเพิ่มประสิทธิผลการดำเนินการ
การที่บริษัทใหญ่ๆ ปรับตัวรับกระแสธุรกิจยั่งยืนอย่างรวดเร็วนี้ มาจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่เห็นเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ยอมรับและปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะผู้บริโภคทางยุโรป ตื่นตัวกับเรื่องนี้มากๆ ไม่ใช่เพียงสินค้าและบริการที่ผลิตในยุโรปเองที่จะต้องทำตามมาตรฐานใหม่ แต่ยังรวมไปถึงเครือข่ายธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้า ตั้งแต่การเพาะปลูก การผลิต แปรรูป ในประเทศที่สามรวมทั้งไทยที่ส่งออกไปขายไปตลาดยุโรปก็ต้องปรับตัวเพื่อดำเนินการตามมาตรฐานด้านสังคมและความยั่งยืนมากขึ้นไปด้วย โดยคิดว่าหากดำเนินการถูกต้องก็จะช่วยเปิดตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ไม่ได้คิดว่าเป็นความยุ่งยาก ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ยังมีคำถามว่า การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนนั้น ดีจริงหรือ เป็นเพราะทำแล้วจะเกิดผลดีต่อโลก หรือ เป็นเพียงข้ออ้างในการนำมาใช้กีดกันทางการค้าเท่านั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามดูกันต่อไป
Author : ชลลดา อิงศรีสว่าง ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
-
ที่มาของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คนไทยจะได้ยินคำว่า “ยั่งยืน” บ่อยครั้งขึ้น หลังจากที่รู้จักความยั่งยืนผ่านทางปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร &nb...
07.07.2020
-
สร้างความยั่งยืนด้วย ‘การค้าระหว่างประเทศ’
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับโลกนั้น ได้เน้นไปที่การค้าระหว่างประเทศ เพราะการค้าทำให้เราผลิต เราขุดค้นนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ เพื่อเปลี่ยนเป็นสินค้าส่งออกไปขาย ได้เงินตราเข้าประเทศ ซึ่งในห่วงโซ่เศรษฐกิจที่...
20.07.2020
-
เทรนด์ธุรกิจยั่งยืน รักษ์โลก VS กีดกันการค้า
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า บริบทการค้าโลกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป เทรนด์ธุรกิจยั่งยืน “Sustainable Business” หรือการดำเนินธุรกิจที่พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นแนวโน้มการดำเนินธุรกิจใหม่ที่...
04.08.2020