การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ที่มาของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน”

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คนไทยจะได้ยินคำว่า “ยั่งยืน” บ่อยครั้งขึ้น หลังจากที่รู้จักความยั่งยืนผ่านทางปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  พระราชทานเป็นแนวทางดำรงชีวิตของคนไทยมานานกว่า 30 ปี    เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่ ซึ่งจะนำไปสู่ ความสุข ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง ซึ่งปลายทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็คือ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” นั่นเอง

หลายๆคนไม่รู้ว่า  ยั่งยืนที่ว่านี้คืออะไร และเกี่ยวข้องอะไรกับเรา ทำไมเราจะต้องให้ความสำคัญกับการแถลงนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งจะพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน 

ที่มาของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น คงจะต้องย้อนไปถึงการประชุมประเทศสมาชิกสหประชาชาติในวันที่ 25 กันยายน 2558 ที่ประชุมในวันนั้นได้ให้การรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน คศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งเป็นวาระที่ว่าด้วยเรื่องของการนำเอาเรื่องของความยั่งยืน มาใช้เป็นแผนที่นำทางการพัฒนาในอีก 15 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ยังมีการระบุว่า การค้าระหว่างประเทศเป็นเครื่องจักรสำคัญที่จะนำไปสู่การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive economic growth) การลดความยากจน (Poverty reduction) และการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศได้ 

อย่างไรก็ดี ขึ้นกับนโยบายการค้าของแต่ละประเทศที่ออกมาว่า จะสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่

จากการที่สมาชิกของยูเอ็น รับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน คศ. 2030 เป็นมติของที่ประชุม นั่นก็เท่ากับว่าเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นวาระแห่งโลก เพราะประเทศที่เป็นสมาชิกยูเอ็นทั้งโลก 193 ชาติ ให้การรับรองเรื่องนี้ทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศ ต้องไปปรับยุทธศาสตร์แผนพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกัน  

การที่ประเทศสมาชิกของโลกเห็นพ้องต้องกัน ให้นำเอาประเด็นทางด้านสังคมและความยั่งยืนมาผูกโยงกับการดำเนินธุรกิจและการค้า มาจากปัญหาส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมสุดขั้ว ที่เน้นการเติบโตของ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) มากกว่าคุณภาพ นั่นเพราะทุนนิยมต่างกอบโกยและขุดเอาทรัพยากรของแต่ละชาติออกมาสร้างผลประโยชน์ แสวงหาความร่ำรวย โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน เกิดความผันผวนของภูมิอากาศ ปัญหาขยะล้นโลก เกิดไฟป่าทำลายทรัพยากรป่าไม้ในหลายๆแห่งของโลก  หากไม่มีการแก้ไขปัญหาในระยะยาว มนุษย์เองจะอยู่ยาก  

แผน  SDG ( Sustainable Development Goals) มี 17 เป้าหมาย ที่จะให้ทุกภาคส่วนไม่เว้นแม้แต่ภาคเอกชนสามารถดำเนินการเรื่องการพัฒนาและยั่งยืนอย่างมีรูปธรรมมากขึ้นและมีจุดร่วมเดียวกันเป็นสากล

ภายหลังจากเกิดข้อตกลงร่วมดังกล่าว ก็มีการเคลื่อนไหวจากธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่งในโลก เริ่มปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตจากการทำธุรกิจอย่างเดียว มาสนใจสิ่งแวดล้อมและชุมชนมากยิ่งขึ้น โดยเห็นว่าการทำธุรกิจที่ยั่งยืนต้องไม่มีการทำลาย จะต้องอยู่ได้ในชุมชน มีความรับผิดชอบและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยที่กิจการยังมีกำไรและยอดขายเติบโตได้เรื่อยๆ ในขณะเดียวกันผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมก็ลดลง ถึงจะเป็นความสำเร็จที่แท้จริง

สำหรับประเทศไทย  ในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ ได้ถูกนำไปเป็นแผนยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี และเมื่อปี 2561 รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กำกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองประธานกรรมการ คนที่ 1

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองประธานกรรมการ คนที่ 2 ปลัดกระทรวงและหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนภาคเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และด้านกฎหมาย ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นกรรมการ และกำหนดให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ

คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ กำหนดนโยบาย กรอบทิศทาง และยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศให้ครอบคลุมมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการ กำกับและขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการอนุวัตตามผลลัพธ์ของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2021 (United Nations Conference On Sustainable Development : UNCSD) แผนปฏิบัติการ 21 (Agenda 21) แผนการปฏิบัติการโจฮันเนสเบิร์ก (Johannesburg Plan of Implementation : JPOI) และข้อตกลง/ผลลัพธ์จากการประชุมระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals : MDGs) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) และเป้าหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ มีหน้าที่กำหนดแนวทางและท่าทีการเจรจาในการประชุมสุดยอดของโลก และการประชุมระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น พร้อมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับหน่วยงานรัฐและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคประชาสังคม

การดำเนินงานของคณะกรรมการ จะครอบคลุมประเด็นที่มีความเร่งด่วน อาทิ การกำหนดแนวทางและท่าทีการเจรจาในการเข้าร่วมกระบวนการหารือในระดับรัฐบาลเพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) และการหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้ทันตามกรอบเวลาที่เวทีระหว่างประเทศกำหนดไว้ ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

ทางด้านภาคเอกชนก็มีการตื่นตัวในเรื่องนี้มากเช่นกัน ในประเทศไทย ได้มีการจัดตั้งองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Thailand Business Councilfor Sustainable Development (TBCSD) ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความตระหนักในด้านสิ่งแวดล้อมในภาคธุรกิจไทยภายใต้แนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ปัจจุบันมีสมาชิก 38 องค์กร ได้แก่  ธุรกิจการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 1 องค์กร, ธุรกิจการเงิน 3 องค์กร, ธุรกิจการบริการ 2 องค์กร, ธุรกิจเทคโนโลยี 1 องค์กร, ธุรกิจอุตสาหกรรม 11 องค์กร, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง 3 องค์กร, ธุรกิจด้านทรัพยากร 12 องค์กร, ธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์ผู้บริโภค 2 องค์กร และธุรกิจอื่น ๆ อีก จำนวน 3 องค์กร

นี่คือที่มาที่ไปของแผนพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย  สำหรับคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องนี้ ก็ควรจะปูพื้นความรู้กันก่อน  คราวหน้าผู้เขียนจะเล่าให้ฟังถึง ความสำคัญของแผน “ยั่งยืน” ว่า เกี่ยวอะไรกับผู้ส่งออก และ การค้าระหว่างประเทศ  และทำไมเราจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

Author : ชลลดา อิงศรีสว่าง ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า  ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

Most Viewed
more icon
  • สร้างความยั่งยืนด้วย ‘การค้าระหว่างประเทศ’

    เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับโลกนั้น ได้เน้นไปที่การค้าระหว่างประเทศ เพราะการค้าทำให้เราผลิต เราขุดค้นนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ เพื่อเปลี่ยนเป็นสินค้าส่งออกไปขาย ได้เงินตราเข้าประเทศ ซึ่งในห่วงโซ่เศรษฐกิจที่...

    calendar icon20.07.2020
  • ‘Sustainable Business’ เทรนด์โลก ธุรกิจยั่งยืน

    ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้อ่านบทความนี้ อาจจะมีคำถามในใจว่า เราเป็นเพียงผู้ประกอบการรายเล็กๆ ไปเกี่ยวข้องอะไรกับความยั่งยืน และทำไมจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น ควรจะเกี่ยวข้องแต่กับผู้ปร...

    calendar icon13.07.2020
  • เทรนด์ธุรกิจยั่งยืน รักษ์โลก VS กีดกันการค้า

    ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า บริบทการค้าโลกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป เทรนด์ธุรกิจยั่งยืน “Sustainable Business” หรือการดำเนินธุรกิจที่พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นแนวโน้มการดำเนินธุรกิจใหม่ที่...

    calendar icon04.08.2020