การพัฒนาอย่างยั่งยืน

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับโลกนั้น ได้เน้นไปที่การค้าระหว่างประเทศ เพราะการค้าทำให้เราผลิต เราขุดค้นนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ เพื่อเปลี่ยนเป็นสินค้าส่งออกไปขาย ได้เงินตราเข้าประเทศ ซึ่งในห่วงโซ่เศรษฐกิจที่เกี่ยวโยงกัน คือเมื่อความต้องการบริโภคสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน การผลิต การส่งออก ทำให้คนในประเทศอยู่ดีกินดี
แปลความหมายง่ายๆคือ หากการค้าการขายขยายตัวได้ดี ก็จะทำให้เศรษฐกิจดี โดยเฉพาะภาคการส่งออก เป็นภาคเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่และเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีผลต่อฐานะของประชาชน สหประชาชาติจึงได้กำหนดเป้าหมายหรือเป้าประสงค์ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ โดยหวังจะให้ใช้เป็นเครื่องมือในการลดความยากจนในประเทศพัฒนาน้อย และประเทศที่กำลังพัฒนา จึงกำหนดเป้าหมายจะเพิ่มส่วนแบ่งการค้าระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยให้เพิ่มเป็น 2 เท่า
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเทศไทยเอง มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ประมาณ 16.3 ล้านล้านบาท เป็นสัดส่วนรายได้ที่มาจากการส่งออกถึง 57% การท่องเที่ยว 21% ที่เหลือเป็นการลงทุน การใช้จ่ายในประเทศ และอื่นๆ
ดังนั้นจะเห็นว่า เศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคต่างประเทศสูงเกินครึ่ง ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว ที่เน้นดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้จ่ายเที่ยวไทย เมื่อเกิดอะไรขึ้นในโลก จึงเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและคนไทยสูง ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ คือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวหดตัวรุนแรง GDP ไทย จึงหดตัวตามไปด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้น ทั้ง 2 ภาคธุรกิจ มีการจ้างงานในสัดส่วนที่สูงมาก ภาคการค้าระหว่างประเทศ ยังเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐ กระทรวงการคลังมีรายได้จากกรมศุลกากรปีละกว่า 100,000 ล้านบาท แต่เป็นที่สังเกตว่า รายได้จากกรมศุลกากรที่จัดเก็บได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ตามทิศทางของการปรับลดมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งอาจกลายเป็นข้อจำกัดของรัฐบาลในการหารายได้ในระยะยาว
ภาคการค้าระหว่างประเทศ จึงเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หากสามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม จะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน ให้เกิดการจ้างงานเต็มที่ มีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน มีผลิตภาพ
นโยบายการค้ายังสามารถส่งผลต่ออุตสาหกรรมการผลิต การจ้างงาน และรายได้ของเจ้าของปัจจัยการผลิตด้วยเช่นเดียวกัน หากนโยบายการเปิดเสรีการค้านำไปสู่การยกระดับผลิตภาพการผลิตในสาขาเกษตรของประเทศไทย จะส่งผลบวกต่อรายได้และการบริโภคของประชากรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประชากรที่ยากจน จะได้รับประโยชน์มากกว่ากลุ่มประชากรที่ร่ำรวย ซึ่งจะช่วยลดความไม่เสมอภาคของคนในสังคม
เรื่องการยกระดับผลิตภาพการผลิตสินค้าเกษตรของไทย มีตัวอย่างที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และ หน่วยงานพันธมิตรอย่าง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ว.ว.) ได้ร่วมมือกันส่งเสริมให้มีการแปรรูปสินค้าเกษตรด้วยการใส่นวัตกรรมเข้าไปเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตรแปรรูปให้ได้มาตรฐานสากลและส่งสินค้าออกไปขายในต่างประเทศ ซึ่งทำสำเร็จได้เห็นเป็นรูปธรรมหลายราย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ผลิตสินค้าขายสินค้าได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันเกษตรกรผู้ปลูกพืชที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบของสินค้าก็ขายสินค้าได้ราคาดีและมีหลักประกันว่าเมื่อผลผลิตออกมาแล้วก็จะขายได้อย่างแน่นอน
ทั้งเกษตรกรที่ผลิตวัตถุดิบซึ่งเป็นต้นน้ำของการผลิต และผู้ประกอบการ SMEs ที่ผลิตสินค้าส่งออก มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งหมด นี่จึงเป็นตัวอย่างของการพัฒนาสินค้าส่งออกอย่างยั่งยืนได้ในรูปแบบหนึ่ง
อ่านมาจนถึงตรงนี้ คงจะรู้แล้วว่า ทำไมเราจะต้องมากำหนดให้ภาคการค้าระหว่างประเทศเป็นส่วนของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะภาคส่วนนี้เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากและใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง หากเจ้าของกิจการผู้ลงทุนไม่ใส่ใจในเรื่องของการบริหารกิจการที่ดี ไม่สนใจสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ดูแลสวัสดิภาพของลูกจ้าง ก็จะกลายเป็นยิ่งสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำให้กับสังคมมากขึ้น
Author : ชลลดา อิงศรีสว่าง ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
-
ที่มาของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คนไทยจะได้ยินคำว่า “ยั่งยืน” บ่อยครั้งขึ้น หลังจากที่รู้จักความยั่งยืนผ่านทางปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร &nb...
07.07.2020
-
‘Sustainable Business’ เทรนด์โลก ธุรกิจยั่งยืน
ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้อ่านบทความนี้ อาจจะมีคำถามในใจว่า เราเป็นเพียงผู้ประกอบการรายเล็กๆ ไปเกี่ยวข้องอะไรกับความยั่งยืน และทำไมจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น ควรจะเกี่ยวข้องแต่กับผู้ปร...
13.07.2020
-
เทรนด์ธุรกิจยั่งยืน รักษ์โลก VS กีดกันการค้า
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า บริบทการค้าโลกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป เทรนด์ธุรกิจยั่งยืน “Sustainable Business” หรือการดำเนินธุรกิจที่พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นแนวโน้มการดำเนินธุรกิจใหม่ที่...
04.08.2020