การผลิต

หากคิดจะทำธุรกิจสักประเภท ผู้ประกอบการจะต้องคิดให้รอบคอบ ควรจะต้องรู้จักรู้จริงในธุรกิจนั้นให้ครบวงจร หากไม่รู้จักธุรกิจที่จะทำอย่างถ่องแท้ โอกาสที่จะเพลี้ยงพล้ำเกิดง่ายกว่าคนที่ทำธุรกิจแบบตัวจริงที่รู้กระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ
มีธุรกิจประเภทหนึ่งที่ไม่เหมือนธุรกิจที่วไป เพราะมีเรื่องของความเชื่อ ศีลธรรม จริยธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นั่นคือธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ ที่ไม่ได้เลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์สัตว์ขาย แต่เป็นการเลี้ยงสัตว์เพื่อหาผลพลอยได้ เช่น เลี้ยงกวางเอาเขา เลี้ยงแกะเอาขน หรือเลี้ยงไก่เอาไข่
การเลี้ยงสัตว์เอาผลพลอยได้ไปจำหน่าย รายได้จะมาจากสิ่งเหล่านี้ สินทรัพย์คือสัตว์ที่เลี้ยงแต่เมื่อสินทรัพย์เสื่อมมูลค่าคือ สัตว์เริ่มมีอายุมากไม่สามารถสร้างผลผลิตให้ได้ตามต้องการ ก็จะต้องปลดระวาง ซึ่งเมื่อถึงตอนนี้ เจ้าของกิจการจะต้องเผชิญกับความรู้สึกที่ต่างจากธุรกิจอื่น
เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของเพื่อนที่ทำงานผมเอง คุณแม่เขาอยากทำธุรกิจฟาร์มไก่ไข่ เนื่องจากเห็นว่าเป็นชีวิตที่มีความสุข ทุกเช้าก็เดินไปคุยกับไก่ในเล้า เดินเก็บไข่ เลี้ยงตั้งแต่เป็นไก่เล็ก เลี้ยงจนเป็นไก่สาว ในกรงคอนโดไก่เปิดเพลงให้ไก่ฟัง เป็นช่วงที่มีความสุขในการทำธุรกิจ มีรายได้เข้าทุกวัน แต่ความสุขมีแค่ช่วงสั้นๆ ไก่ให้ไข่ได้แค่ไม่เกิน 1 ปี ก็เริ่มไม่คุ้มค่าอาหารแล้ว จะเป็นช่วงที่ลำบากใจที่สุดตอนตัดใจส่งไปเชือด รู้สึกเป็นบาป ไม่สบายใจที่จะทำอาชีพนี้อีกแล้ว สุดท้ายปล่อยทิ้งกรงร้างเลิกแผนจะเลี้ยงรุ่นที่ 2 ไปเลย ธุรกิจทำกับสิ่งมีชีวิตจึงมีเรื่องของการตัดสินใจที่ขัดกับหลักศีลธรรม กรณีแบบนี้ก็เกือบเกิดกับครอบครัวผมเหมือนกัน คุณพ่อภรรยาก็มีโครงการจะเลี้ยงไก่ไข่เหมือนกัน พอท้วงว่าพอแม่ไก่แก่ไม่ออกไข่แล้ว ต้องส่งเชือดนะครับ แกเลิกคิดเลย กลัวบาป
ขอยกกรณีตัวอย่างโครงการขอสินเชื่อ ที่เพื่อนผมเคยทำประมาณการ Cash Flow โครงการฟาร์มเลี้ยงม้าเพื่อผลิตเซรุ่มแก้พิษงู โดยเอาพิษงูฉีดไปในม้าแล้วสกัดเซรุ่มออกมาขาย ซึ่งปัญหาเดียวกันคือ ผู้ขอโครงการไม่มีนโยบายปลดระวางม้าที่สูงอายุแล้ว คือจะเลี้ยงจนกว่าจะหมดอายุขัยไปเอง โครงการจึงไม่สามารถทำกำไรทางธุรกิจได้ เนื่องจากต้องแบกภาระเลี้ยงม้าสูงอายุที่ไม่สร้างรายได้ให้กิจการ และจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลยามแก่สูงมาก ในทางธุรกิจไม่สามารถสนับสนุนโครงการได้ เมื่อไม่มีการจัดการกับม้าแก่
นอกจากการตระหนักเรื่องการจัดการเมื่อไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ของสิ่งมีชีวิตแล้ว ยังต้องพิจารณาเรื่องความเสี่ยงจากโรคระบาด ศัตรูตามธรรมชาติ เช่น งู ที่จะมีระบบเตรียมการอย่างไรให้ปลอดภัย หรือถ้าเลี้ยงปลาในกะชังก็ต้องระวังน้ำเสีย หรือน้ำท่วม ด้วย
เคยได้ความรู้มาจากเพื่อนที่เป็นเจ้าของฟาร์มหมู ปัจจัยเสี่ยงอีกเรื่องคือสายพันธุ์ของหมูที่ซื้อมาเลี้ยงด้วย ในแต่ละรุ่นที่เอามาเลี้ยงมีอัตราการรอดชีวิตจนกว่าจะจับขายได้ไม่เท่ากัน ต้องมีระบบการจัดการให้วัคซีนที่เหมาะสม ลดการตายก่อนโตเต็มวัย บางรุ่นที่ลูกหมูตายมากๆ ก็ไม่คุ้มต้นทุน
เช่นเดียวกันสำหรับการปลูกพืชยืนต้น เช่น ไม้ยางพารา บางครั้งมีการให้ผลผลิตต่ำกว่าต้นพันธุ์ที่เพาะชำมาขาย หรือปลูกจนโตแล้วไม่ให้ผล ต้องโค่นทิ้ง เสียเวลา เสียเงินบำรุงรักษากว่าจะโต
ในทางการทำประมาณการทางการเงิน ความเป็นไปได้ของโครงการนั้น ต้องพิจารณาทั้ง อัตราการรอด อัตราการแลกเนื้อ (คือ ต้องให้อาหารเท่าใดจึงจะโตถึงขนาดที่ต้องการ) และผลผลิตที่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังกี่เปอร์เซ็นต์ อย่างกรณีเลี้ยงวัวนม สิ่งที่ต้องการ คือ ผสมพันธุ์แล้วตกลูกได้วัวเพศเมียก็เลี้ยงไว้ หากเป็นลูกวัวตัวผู้ต้องขายทิ้ง หากผสมออกมาได้ลูกวัวตัวผู้มากก็ได้รายได้น้อยกว่าการได้ลูกวัวตัวเมีย ซึ่งราคาสูงกว่า วัวต้องตกลูกก่อนจึงจะมีน้ำนมให้รีดนมขาย
เรื่องของการเสื่อมของสินทรัพย์ที่มีชีวิตนั้น ไม่ใช่แค่ธุรกิจที่เลี้ยงสัตว์เท่านั้นที่จะเจอ แต่ธุรกิจทั่วไป โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ก็เจอปัญหาต้องจัดให้มีการเกษียณอายุคนงาน เนื่องจากไม่สามารถจ้างงานได้ตลอดชีวิต แม้ว่าจะเป็นคนเก่าคนแก่ แต่เมื่อร่างกายเสื่อมถอยลง จะให้ทำงานดูแลเครื่องจักรก็จะมีความเสี่ยงต่อการผลิตอย่างมาก ตัวอย่างเช่น จ้างคนรถสูงอายุ ก็ขับรถหรือใช้งานเครื่องจักรไม่คล่องแคล่ว การตัดสินใจล่าช้า มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุรุนแรง เพียงแต่ต่างกันที่คนงานสูงอายุยังมีทางหาทางดำรงชีพต่อได้ แต่สัตว์ที่เราใช้ประโยชน์จะไม่สามารถปล่อยสู่ธรรมชาติได้
สำหรับผู้ประกอบการที่เลี้ยงสัตว์เพื่อการส่งออก เช่น ปลากัด ปลาสวยงาม แมว สุนัขสวยงาม อาจจะมีความผูกพันทางใจน้อยกว่า จะต้องพิจารณากฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศด้วย เพราะทุกประเทศก็กลัวจะเอาเชื้อโรคที่อาจกระทบกับระบบนิเวศน์ในประเทศเขาด้วย นอกจากจะต้องคำนึงถึงปัจจัยในการเลี้ยงแล้ว ในการผลิตเพื่อการส่งออกต้องเรียนรู้วิธีการค้าระหว่างประเทศ การจัดการวิธีระบบขนส่งให้เสียชีวิตระหว่างทางน้อยที่สุด และควรพิจารณาเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย เนื่องจากการค้านำเข้า ส่งออก นิยมเจรจาการค้าด้วยสกุลหลัก
Author : รัฐ ลิ่วนภโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
-
นวัตกรรมนำธุรกิจ พิชิตใจผู้บริโภค
ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ การค้า สังคมและวัฒนธรรม ทำให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนไปเร็ว ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องเพื่อให้ธุรกิจดำเ...
12.06.2020
-
“น้ำ” ปัจจัยสำคัญในการผลิตที่ขาดไม่ได้
“น้ำ” นอกจากจะเป็นปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตของมนุษย์แล้ว น้ำยังเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการผลิตของเกือบทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะใช้ในกระบวนการเตรียมวัตถุดิบ หรือธุรกิจเกษตรที่ต้องใช้น้ำในการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์...
31.03.2020
-
การกระจายความเสี่ยง
การกระจายความเสี่ยง เราน่าจะเคยได้ยินสำนวนภาษาอังกฤษ Don't Put All Your Eggs in One Basket. ซึ่งความหมายว่า ไม่ควรทุ่มเททุกสิ่งที่คุณมีอยู่ไปกับสิ่ง ๆ เดียว ซึ่งในความหมายส่วนใหญ่ก็จะเป็นทำการค้า การลงทุนซะเ...
28.05.2020