มือใหม่ส่งออก

อยากส่งออก บอกเอ็กซิมแบงก์ ตอนที่ 5

เป็นอย่างไรครับ สินค้าเราเตรียมจะลงเรือไปแล้วใช่ไหมครับ  รอรับเงินแล้วสิครับ แต่ อย่าชะล่าใจนะครับ เคยเจอข่าวเรือขนสินค้าชนกัน ตู้คอนเทนเนอร์จมลงทะเลไหมครับ  จะเป็นอย่างไรถ้าเรือลำนั้นมีสินค้าของเราไปด้วย ถ้าไม่ทำประกันภัยไว้ เงินค่าสินค้าก็จมลงทะเลไปแล้วนะครับ

ส่วนที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งในการทำการค้าระหว่างประเทศ คือ การทำประกันภัยการขนส่ง ซึ่งในทางการค้าจะตกลงกันว่าเงื่อนไขการค้า ตาม Incoterm ตกลงกันชัดเจน ว่าใครต้องรับผิดชอบ เช่น หากเราค้าแบบ FOB  (Free On Board) ก็จะหมายความว่าทางผู้ซื้อรับผิดชอบเอง เนื่องจากเขาอาจจะสามารถหาสายเรือและค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้ถูกกว่าเรา แต่หากเป็น CIF (Cost, insurance, and freight) ก็จะให้เรารวมค่าขนส่ง และค่าประกันภัยขนส่งด้วย โดยในบางครั้งทางผู้ซื้ออาจจะตกลงซื้อขายแบบ C&F (cost and freight)  ก็จะไม่รวมประกันภัย ไว้ โดยทางผู้ซื้อเขาอาจจะมีการทำประกันเหมารวมไว้แล้ว หรือได้ราคาพิเศษ หรือ นโยบายใช้บริษัทประกันในประเทศเขา 

จะเห็นได้ว่าในทางการค้าระหว่างประเทศ เขาให้ความสำคัญกับค่าใช้จ่ายในการทำประกันภัยไว้ในเทอมการค้าเลย  ไอ้เจ้าตัวค่าเบี้ยประกันภัยนี่ คนไทยเราส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ ดูได้จากอัตราการทำประกันภัย ไม่ว่าจะเป็น ประกันอัคคีภัย  หรือ ประกันอุบัติเหตุ ยังไม่นิยมทำกัน โดยมีบางคนบอกว่าคนไทยชอบเสี่ยง  โอกาสเกิดเรื่องเสียหายแบบนี้ต่ำมาก  ปีหนึ่งจะมีเรือขนส่งล่มสักกี่ที ไม่น่าเกิดกับตัวเขาเอง  อีกประเด็นหนึ่งที่ฝากให้ศึกษา คือ เรื่องการเรียกเคลมค่าความเสียหาย กรณีสินค้าสูญหาย หรือ เกิดอุบัติเหตุ ลองถามทางชิปปิ้งไว้ เผื่อเวลาเกิดโชคร้ายจะได้มีเอกสารเคลมครบถ้วน

นอกจากการทำประกันภัย ในเรื่องการขนส่งแล้ว อีกเรื่องที่อยากส่งเสริมให้สร้างนิสัย  คือ การทำประกันภัยจากการไม่ได้รับชำระค่าสินค้า เมื่อส่งสินค้าไปแล้ว เนื่องจากลูกค้าธนาคาร ที่เป็นผู้ส่งออกหลายรายประสบปัญหาจากการที่ผู้ซื้อปลายทางไม่ชำระค่าสินค้า หรือประเทศปลายทางเกิดภัยสงคราม จราจล หรือ มีกฎควบคุมห้ามโอนเงินออกนอกประเทศ ก็จะไม่ได้รับชำระค่าสินค้า

ผมเคยพบผู้ประกอบการหน้าใหม่ลางราย เดินมาคุยที่บูท แล้วบอกว่าเสียดายที่ไม่รู้ว่า ประกันแบบนี้ด้วย เพราะเพิ่งโดยผู้ซื้อปลายทางเบี้ยวไม่จ่ายสินค้า หมดไปหลายแสนเลย ถ้าทำประกันไม่กี่พันบาทก็ไม่ต้องเจ็บตัวแบบนี้  ซึ่งหากดูสถิติการเคลมแล้ว จะพบว่าโดนผู้ซื้อไม่ชำระค่าสินค้ามาจากทุกทวีป โดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ ที่คิดกันว่ามีเครดิตดีนี่โดนเบี้ยวมาเยอะแล้ว บางทีไม่รับสินค้าเอาง่ายๆ เพราะสินค้าที่ซื้อราคาแพง   แล้วเราจะทำอย่างไรดีล่ะ ดูลิงค์ตัวอย่างท้ายเรื่องเลยนะครับ นั่นนะเหตุการณ์จริง ผู้ซื้อไม่รับสินค้า (ทุเรียน) เอาดื้อๆ ซะอย่างนั้น

เรื่องการทำประกันนี้ จะมีหลายคนจะเชื่อว่า เมื่อทำการค้ากันมานานแล้ว ก็ไม่ต้องทำประกันก็ได้ ซึ่งก็จะพบว่าในประเทศทางยุโรป บริษัทชั้นนำระดับโลก ทำธุรกิจมานาน ก็ปิดกิจการไปหลายรายแล้ว  นั่นคือ เขาจะไม่จ่ายหนี้ค่าสินค้าให้เราแน่  มีกรณีที่ลูกค้าธนาคารทำประกันมานาน จนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจว่าลูกค้าจะไม่เบี้ยวแน่นอน ก็เลยเลิกทำประกัน เพราะความรู้จักและเชื่อใจ หลังจากเลิกทำประกันก็เกิดปัญหาทันที  เรื่องนี้เหมือนกับที่คนมักบ่นกันกันว่า ปกติถ้าต่อประกันภัยรถยนต์ไม่มีปัญหา แต่มักเกิดปัญหาตอนที่กรมธรรม์หมดอายุแล้ว และลืมยังไม่ได้ต่อฉบับใหม่ เกิดอุบัติเหตุซะนี่

ขอเตือนไว้นะครับ การทำธุรกิจ เราต้องลดความเสี่ยงให้มากที่สุดในระดับที่มีค่าใช้จ่ายที่เราจ่ายประกันความเสี่ยงได้  อีกความเสี่ยงที่ท่านอาจจะนึกไม่ถึง คือ เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเราค้าเป็นสกุลหลักทั้งหลาย แล้วกรณีที่ค่าเงินมีการผันผวนมาก ๆ การทำกำไรในบางครั้งอาจจะไม่มากนัก เพราะขายเป็นปริมาณเยอะ เมื่อเจอกับขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนก็เรียกว่าทำฟรี หรือ ขาดทุนกันเลย หากเราสอบถามผู้ส่งออกบางราย เขาก็บอกว่าไม่ต้องทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้หรอก เขาเผื่อไว้แล้ว เช่น คิดส่งออกไว้สูงกว่าค่าเงินตอนนี้ไว้แล้ว ให้ผันผวนก็ยังมีกำไร จะทำจองฟอร์วาร์ด ไว้ทำไมกัน สู้ลุ้นตอนได้เงินมาดีกว่าเผื่อฟลุ๊คได้กำไรเพิ่มอีก แต่การทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องของการเอาธุรกิจมาเสี่ยงนะครับ 

ผมเคยเจอผู้ส่งออกแป้งมันสำปะหลังรายหนึ่ง แกทำธุรกิจนี้มานาน ทำกำไรมาทุกปีเตรียมวางมือส่งต่อให้รุ่นที่ 2 แล้ว แต่ในวันที่เจอกันนั้น แกบอกว่าปีที่แล้วขาดทุนไป 5 ล้านกว่าบาท เพราะอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเดียวเลย ธุรกิจน่ะขายมีกำไร ที่ขาดทุนหนักเพราะว่า กลางปีขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนไปแล้วนิดหน่อย ค่าเงินบาทแข็งเร็วมาก แต่เห็นบทความนักวิชาการให้ความเห็นกันว่าค่าเงินบาทจะต้องกลับมาอ่อนในไม่ช้า บริษัทก็เลยถือเงินเหรียญไว้ สุดท้ายเจอแต่เงินบาทแข็งตลอด ขาดทุนหนักไปอีก เพราะเก็งกำไร จากนั้นมาก็เป็นนโยบายบริษัทเลย ต้องทำฟอร์วาร์ด บริษัทมีกำไรจากการค้า อย่าให้มาเจ็บตัวขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเลยครับ

สรุปว่า การป้องกันความเสี่ยงเป็นเรื่องที่ผู้ทำธุรกิจต้องให้ความใส่ใจ และระวังให้มากนะครับ อย่าเอาธุรกิจไปเสี่ยง เพื่อประหยัดค่าเบี้ยประกันเล็กๆ น้อย ๆ เลยนะครับ

https://www.exim.go.th/eximinter/e-news/7318/enews_may2018_businesstip.html

 

Author : รัฐ ลิ่วนภโรจน์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า  ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

 

 

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Most Viewed
more icon
  • อยากส่งออก บอกเอ็กซิมแบงก์ ตอนที่ 1

    ผมมีเพื่อนบางคนที่ประสบความสำเร็จในการทำการค้าระหว่างประเทศ เราก็แอบอิจฉาเพื่อนว่า ทำไมเขาร่ำรวยรวดเร็วจัง จับอะไรมาขายก็เป็นเงินเป็นทอง ส่งออกวันละหลายตู้คอนเทนเนอร์ ประสบความสำเร็จด้วยสองมือเปล่าและความสามารถ ธุ...

    calendar icon08.04.2020
  • ตั้งการ์ดรับมือทำการค้าระหว่างประเทศ ด้วยประกันการส่งออก

    หนึ่งในปัญหาคลาสิกในการทำการค้าก็คือ คู่ค้าเบี้ยวชำระเงินหลังจากสั่งซื้อสินค้าไปแล้ว หากเป็นการซื้อขายภายในประเทศ เรายังสามารถติดตามทวงถามได้ง่าย แต่ถ้าในกรณีที่เป็นการค้าการส่งออกระหว่างประเทศ ระยะทางที่ห่างไกลคงเป็นเ...

    calendar icon01.08.2020
  • วิกฤต หรือ โอกาส เมื่อเงินบาทแข็งค่า?

    เรามักได้ยินกันอยู่บ่อยๆ เรื่องเงินบาทผันผวน เดี๋ยวแข็งค่า เดี๋ยวอ่อนค่า อัตราแลกเปลี่ยนผันแปรแล้วแต่ช่วงเวลา ตามสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมืองในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้เลย การแข็งค่าข...

    calendar icon15.09.2020