มือใหม่ส่งออก

ผมมีเพื่อนบางคนที่ประสบความสำเร็จในการทำการค้าระหว่างประเทศ เราก็แอบอิจฉาเพื่อนว่า ทำไมเขาร่ำรวยรวดเร็วจัง จับอะไรมาขายก็เป็นเงินเป็นทอง ส่งออกวันละหลายตู้คอนเทนเนอร์ ประสบความสำเร็จด้วยสองมือเปล่าและความสามารถ
ธุรกิจส่งออกเป็นธุรกิจที่เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการหน้าใหม่ ได้เข้ามาลองฝีมือเสมอ เนื่องจากตลาดโลกเป็นตลาดใหญ่ มีความต้องการหลากหลายและไม่มีขีดจำกัด จึงมีคนจำนวนมากสนใจที่จะเริ่มทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีทั้งนิติบุคคลทำการผลิตสินค้าและหาตลาดส่งขายเอง กับผู้ที่เป็นเทรดเดอร์ คือคนกลางที่เที่ยวเสาะหาออเดอร์จากผู้นำเข้าต่างประเทศ ส่งให้กับผู้ผลิตที่จะขายสินค้า ซึ่งเทรดเดอร์มีหน้าที่จะต้องตรจสอบภาพของสินค้าก่อนปิดตู้คอนเทนเนอร์ส่งลงเรือ และจะได้รับค่าตอบแทนตามจำนวนที่ตกลงกันไว้
เมื่อตลาดกว้างใหญ่และท้าทาย ก็ย่อมมีหลายคนอยากจะเริ่มเป็นผู้ส่งออกเหมือนคนที่ประสบความสำเร็จบ้าง ใจจริงผมอยากจะชักชวนนักธุรกิจไทย ได้ศึกษาและหาช่องทางการค้าระหว่างประเทศ ไม่ใช่เพราะอยากจะเชิญมาใช้สินเชื่อกับธนาคารนะครับ แต่เพื่อส่งเสริมให้นำเงินตราเข้าประเทศมากๆ จึงแนะนำให้ศึกษาและมองหาโอกาสกัน
การส่งออกนั้น เราจะเห็นว่ามีโอกาสทำกำไรได้ดี เนื่องจากการค้าแต่ละครั้งมียอดขายจำนวนมาก สินค้าบางชนิดทำกำไรได้สูงกว่า ไม่ต้องขายตัดราคา เหมือนการขายในประเทศ และสินค้าอีกหลายชนิดเมื่อแปรรูปในประเทศแล้วส่งออกจะได้ราคากว่าขายเป็นวัตถุดิบออกไป
ฟังแล้วเริ่มสนใจที่จะศึกษาเรื่องการส่งออกแล้วใช่ไหมครับ ผู้ประกอบการรายย่อยหลายท่านมักจะเข้ามาขอความรู้จาก EXAC ว่าสนใจอยากจะส่งออกสินค้าจะเริ่มต้นอย่างไรดี ผมต้องถามกลับไปว่า คุณจะส่งออกอะไร ส่งไปไหน และต้องการให้เราช่วยอะไร
สำหรับมือใหม่ ก่อนจะส่งออก อยากให้ถามตัวเอง ไว้ 2 เรื่องก่อน คือ เราจะขายอะไร และเรารู้จักความเสี่ยงในการส่งออกดีหรือยัง เพราะ 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เราสำเร็จ หรือล้มเหลวในธุรกิจ
เรื่องแรก คือ เราจะขายอะไร คำว่าสิ่งที่จะขายนี้ ผมขอหมายความถึงเฉพาะ สินค้า เท่านั้นนะครับ ถ้าเป็นบริการอาจจะจับต้องยากไปนิด สินค้าในที่นี้ขอให้นึกถึง สินค้าที่เป็นความต้องการของตลาดนะครับ ไม่ใช่สินค้าอินดี้ ประเภทว่า ฉันอยากจะทำแบบนี้ ไม่ปรับลักษณะสินค้าตามที่ผู้ซื้อต้องการ ใครซื้ออยากซื้อก็ติดต่อมา ไม่ซื้อก็ไม่ขาย อยากได้ของแตกต่างจากที่มีก็ไปหาซื้อที่อื่น
ยกตัวอย่างเช่น จะขายปลากระป๋องในน้ำเกลือไปยุโรป ไม่อยากขายปลากระป๋องในน้ำมันพืช ซึ่งทางคนซื้อเขาก็มีปัญหาว่า ประเทศเขาเป็นเมืองหนาว อากาศเย็นจนน้ำเกลือในกระป๋องกลายเป็นน้ำแข็ง ไม่สะดวกในการนำไปใช้ ไม่เหมือนปลากระป๋องในน้ำมันพืช หากเราจะทำตลาดก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับตลาด หรือเรื่องขนาดบริโภค ประเภทจะขายทองม้วนยกปี๊บ ขณะที่ทางผู้บริโภคอยากได้เป็นแพ็คละคำ บริโภคครั้งละไม่มาก เก็บได้นาน
ในการทำการค้า สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในกรณีที่มีคนซื้อในประเทศ แจ้งความประสงค์มา แล้วให้คนไทยหาสินค้าให้ หรือผู้ประกอบการไทยมีสินค้าแล้วไปเสนอขาย ซึ่งปกติจะเป็นสินค้าที่จะเปิดตลาดใหม่ๆ สำหรับเรื่องการทำการตลาดนี่จะขอไว้เขียนเป็นตอนต่อๆ ไปนะครับ
วิธีการหาสินค้านั้น สามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายแนวทาง ทั้งทำการผลิตเอง เราเป็นนายหน้าหาสินค้าไปส่งออก จ้างโรงงานผลิตในแบรนด์ของเรา หรือ ผลิตในแบรนด์ของผู้ซื้อ ซึ่งขอให้ศึกษาให้ดีว่า สินค้าแต่ละชนิดนั้นจะส่งออกได้ต้องมีเกณฑ์อะไรบ้าง ซึ่งจะขอไปลงรายละเอียดในเรื่องกฎเกณฑ์ของการส่งออกสินค้าแต่ละชนิดในตอนต่อไป
เรื่องที่สองคือ ความเสี่ยงในการส่งออก เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก การจะทำธุรกิจประสบความสำเร็จจำเป็นต้องรู้ให้รอบ คิดให้ละเอียด รู้จักความเสี่ยงเพื่อที่จะหาทางปิดความเสี่ยงให้การส่งออกของเราเดินหน้าอย่างราบรื่น
การทำธุรกิจในประเทศ และการทำการค้าระหว่างประเทศ เหมือนกันคือการส่งมอบสินค้าและรับชำระเงิน แต่แตกต่างกันอย่างมากในเรื่องของรายละเอียด การส่งออกนั้นเราส่งสินค้าไปให้คนที่อยู่คนละพื้นที่คนละประเทศ คนละทวีป คนละสภาพแวดล้อมใช้ จำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องของภูมิศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรม กฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ รวมถึงสกุลเงินของประเทศคู่ค้า ความยุ่งยากในการติดต่อสื่อสาร
เป้าหมายสูงสุดของการค้าระหว่างประเทศคือ ผู้ส่งออกได้เงินและผู้ซื้อได้สินค้าที่ต้องการ แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น กระบวนการติดต่อ เจรจาต่อรอง ยืนยันการซื้อขายและเรียกเก็บเงินต้องดำเนินการอย่างรอบคอบรัดกุม นอกจากความยากในการตกลงซื้อขายสินค้ากับคนต่างชาติ ต่างภาษา และต่างวัฒนธรรมกันแล้ว ยังมีความแตกต่างด้านกฎระเบียบของประเทศผู้ส่งออกและผู้นำเข้า ที่ต้องศึกษา มีความรู้และทักษะที่จะบริหารจัดการจนนำไปสู่ คำสั่งซื้อหรือสัญญาซื้อขายให้ได้
เมื่อตกลงซื้อขายได้แล้ว ความเสี่ยงที่ต้องการบริหารจัดการเพื่อให้ได้เงินจากการขายสินค้าล็อตนั้น คือ ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงจากการขนส่ง และความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงิน อันเนื่องมาจากสาเหตุทางการค้าหรือการเมือง
เมื่อเรารู้ว่าจะขายอะไร และรู้จักความเสี่ยงในการทำการค้าระหว่างประเทศแล้ว แล้วก็ตั้งใจจะทำธุรกิจส่งออกอย่างมุ่งมั่นแล้ว ขั้นตอนต่อมาที่เราจะต้องรู้ก็คือ ขั้นตอนการส่งออก
ขั้นตอนการส่งออกเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องรู้ เพราะจะทำให้การส่งออกสะดวกหรือล่าช้า ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามีความรู้และความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน หากเตรียมเอกสารครบถ้วนถูกต้องก็รวดเร็วที่จะได้รับการอนุมัติให้ส่งออก
ทั้งนี้ ขั้นตอนการจะส่งออก เราต้องรู้อะไรบ้าง ซึ่งจะสามารถเรียงลำดับขั้นได้ดังนี้
- การเตรียมความพร้อม ด้านเอกสารเพื่อการส่งออก
- เสนอซื้อ – ขาย ต้องมีเงื่อนไขใดบ้าง
- วิธีการค้าระหว่างประเทศ
- เอกสารการค้า และการเดินเรื่องส่งออก
- การประกันภัย ทั้งการประกันภัยการขนส่ง และ ประกันว่าส่งออกแล้วผู้ซื้อจะชำระค่าสินค้า
- การรวบรวมเอกสารเพื่อเรียกเก็บค่าสินค้าผ่านธนาคาร
ในบทความนี้ เราคุยกันเฉพาะเรื่องแรกเท่านั้นก่อนนะครับ
- การเตรียมความพร้อม ด้านเอกสารเพื่อการส่งออก
เพื่อให้เรามีตัวตน เป็นที่ยอมรับในการค้าระหว่างประเทศ เราต้องยืนยันตัวตน ให้ผู้ซื้อเชื่อว่าเราจะส่งของให้ผู้ซื้อในต่างประเทศ ลองนึกจินตนาการถึงระบบการค้าออนไลน์บ้านเรา บรรดาร้านค้าที่จะลงขายสินค้า ต้องมีการยืนยันตัวตนกับเว็บมาสเตอร์ก่อน เว็บก็จะสกรีนในเบื้องต้นว่าผู้จะมาโพสต์สินค้ามีความน่าเชื่อถือ เช่นเดียวกัน เมื่อท่านจะส่งออกในนามสินค้าจากประเทศไทย ก็ต้องยืนยันตัวตนว่าท่านมีตัวตน ไม่ใช่มิจฉาชีพ
ขอย้ำว่าการค้าระหว่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่ผู้ซื้อจะบินมา ยืนต่อว่าหน้าโรงงาน หรือขนของใส่เรือกลับมาขอเปลี่ยนสินค้าได้ จึงต้องมีกลไกในการตรวจสอบตัวตนของผู้ขาย ให้ผู้ซื้อมั่นใจ โดยต้องถามตัวเอง ดังนี้
ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ไหม ในที่นี้ไม่ใช่ว่าต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลนะครับ แต่จดทะเบียนพาณิชย์ เช่น ตามบรรดาร้านค้าทั่วไปก็จดทะเบียนพาณิชย์ในนามบุคคลนะครับ เราจะเห็นร้านขายของมีทะเบียนพาณิชย์ใส่กรอบแขวนโชว์กันอยู่ แต่โดยส่วนตัวของผู้เขียน เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ หากจดทะเบียนพาณิชย์เป็นนิติบุคคล ก็จะมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น มีการจดทะเบียนลงทุน มีการแสดงหลักฐานต่อกระทรวงพาณิชย์ว่าหุ้นส่วนมีการโอนเงินมาลงทุนจัดตั้งบริษัทจริง บริษัทมีการยื่นหลักฐานจดทะเบียนแน่นอน และเมื่อดำเนินการค้าไปทุกรอบัญชี ก็จะมีการยื่นงบการเงินต่อกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งงบรับรองโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ยิ่งทำให้นิติบุคคลน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น
นิติบุคคลที่ทำการค้ามานาน งบการเงินมั่นคง ไม่เคยมีประวัติเสียหาย ก็ช่วยเสริมให้ผู้ซื้อมีความมั่นใจในการตัดสินใจซื้อสินค้ามากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับที่เราจะซื้อสินค้าสักชิ้นจากเว็บออนไลน์ หรือเฟสบุ๊คที่เราไม่เห็นรู้จักผู้ขาย ก็ต้องดูจากรีวิว เปิดขายมานานหรือยัง เสียงตอบรับจากผู้ซื้อรายอื่น และประวัติอื่นๆ เท่าที่เราจะค้นได้ ในความเห็นส่วนตัวของผม ยุคนี้ การทำการค้า ผู้ซื้อจะเร่งไม่ตัดสินใจซื้อสินค้าทันที เราจะหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อน ดังนั้นการสร้างความน่าเชื่อถือเป็นเรื่องสำคัญในการทำธุรกิจ และประเด็นต่อเนื่องในอนาคต เมื่อเรามียอดขายเพิ่มรวดเร็ว จนเงินหมุนไม่เพียงพอ อาจจำเป็นต้องขอสินเชื่อธุรกิจจากธนาคาร ปกติธนาคารผู้ให้กู้ก็จะให้น้ำหนักกับผู้ประกอบการในนามนิติบุคคล เนื่องจากมีความน่าเชื่อถือมากกว่า ยิ่งถ้าประกอบการในนามนิติบุคคลมานาน ผลประกอบการในอดีตไม่เสียหาย โอกาสได้สินเชื่อก็มีมากขึ้น ในเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยที่ดี
ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไหม การจดภาษีมูลค่าเพิ่ม Value Added Tax หรือ VAT นั้น ตามประมวลกฎหมาย หากผู้ประกอบการมีรายได้เกินปีละ 1.8 ล้านบาท (หรือเฉลี่ยเดือนละ 150,000 บาท) ธุรกิจเรามีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ในเรื่องนี้ หากท่านทำธุรกิจ การส่งออกล็อตละหลายแสนบาทเป็นเรื่องปกติมาก ดังนั้นการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ และมีหลายธุรกิจได้ประโยชน์ในการทำธุรกิจจากการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากการส่งออกไม่ต้องมีภาษีขาย เราจึงสามารถเอาภาษีซื้อมาขอคืนภาษีได้ กรณีของการขอ VAT Refund จากการส่งออกนั้น ขอยกตัวอย่างว่าท่านส่งออก สินค้าไปประเทศเพื่อนบ้าน ท่านซื้อจากร้านค้ามาราคา 100 บาท มีภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7 บาท หากผู้ขายรายย่อยในประเทศเพื่อนบ้านข้ามฝั่งมาซื้อสินค้าเอง จะต้องซื้อในราคา 107 บาท เช่นเดียวกันกับผู้บริโภครายย่อยในประเทศ แต่ ขอเน้นย้ำว่า เมื่อเราส่งออก เรามีต้นทุนแค่ 100 บาท ไม่ใช่ 107 บาท ดังนั้น เมื่อเราส่งสินค้ารวมค่าส่งและบวกกำไรแล้ว ถึงมือผู้ซื้อปลายทางในราคาต่ำกว่า 107 บาท ก็สามารถทำราคาได้ต่ำกว่า พ่อค้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาซื้อเอง โอกาสทำกำไรมีให้เห็น
กรมศุลกากรจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นผู้ส่งออก ผู้จะนำเข้า-ส่งออก ต้องขอลงทะเบียนเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากร ณ ฝ่ายทะเบียน สำนักมาตรฐานพิธีการศุลกากรและราคาศุลกากร (หรือสำนักงานศุลกากร หรือด่านศุลกากร) โดยท่านสามารถศึกษารายละเอียดได้จากเว็บของกรมศุลกากร http://www.customs.go.th
มีกฎเกณฑ์ ระเบียบการส่งออก อะไรบ้างที่ต้องศึกษา ในการจะส่งออกสินค้าต้องตรวจสอบข้อมูลก่อนว่า สินค้าเรามีข้อจำกัดอะไรหรือไม่ ที่ผมเห็นว่าผู้ประกอบการต้องศึกษา ได้แก่
- กฎ ระเบียบ ที่ราชการกำหนด ภาษีอากรที่เกี่ยวกับการส่งออก โดยสามารถหาข้อมูลจากเว็บกรมศุลกากร เพื่อขอคำแนะนำด้าน พิกัดศุลกากร อัตราศุลกากร พิธีการศุลกากร
- สินค้าที่จะส่งออก มีมาตรการนำเข้า ส่งออก หรือมีมาตรฐานใดหรือไม่
การจะส่งออกสินค้าต้องตรวจสอบว่าสินค้าที่เราจะส่งออก อยู่ในกลุ่มใด ยกตัวอย่างเช่น
- สินค้าที่มีมาตรการนำเข้า อาทิ ยางรถยนต์ใช้แล้ว เภสัชภัณฑ์ ทองคำ เหรียญโลหะ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
- สินค้าที่มีมาตรการส่งออก อาทิ ทราย ข้าว น้ำตาลทราย ทองคำ พระพุทธรูป หรือสินค้าที่รีเอ็กพอร์ต เป็นต้น โดยเฉพาะน้ำตาลทราย สมัยก่อนมักจะมีหลายท่านสนใจจะส่งออกน้ำตาลทรายไปประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากราคาน้ำตาลในประเทศถูกกว่าเพื่อนบ้าน แต่เมื่อนโยบายราคาน้ำตาลลอยตัวก็มีน้อยลง แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการบางรายมาติดต่อขอสินเชื่อเพื่อการส่งออกน้ำตาลทราย โดยที่ไม่มีใบอนุญาต เนื่องจากไม่ทราบมาตรการควบคุมนี้
- สินค้าที่ห้ามส่งออก เช่น สินค้าลิขสิทธิ์ สินค้าปลอม เลียนแบบเครื่องหมายการค้า เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยไม่สนับสนุนการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ ผมไม่แนะนำและไม่สนับสนุนให้ท่านเลือกทำธุรกิจที่ผิดกฎหมายเหล่านี้นะครับ
- กลุ่มสินค้าที่ควบคุมการส่งออก สินค้าที่อยู่ในกลุ่มนี้ต้องขอใบอนุญาตส่งออกก่อนการส่งออก ถ้าไม่มีใบอนุญาต จะไม่สามารถผ่านพิธีการศุลกากรได้ ทั้งนี้สินค้าบางรายการ เช่น ลำใย หรือ อาหารแช่แข็ง ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตส่งออกทุกครั้ง ให้ใช้วิธีการจดทะเบียนไว้ล่วงหน้า เมื่อมีการส่งออกให้รายงานผลการส่งออกในภายหลัง
- สินค้าที่มีการควบคุมโควต้า ให้ผู้ส่งออกยื่นขอจดทะเบียนเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากการส่งออกสินค้าตามโควต้า (ส่งออกเกินโควต้า อาจมีอัตราภาษีสูงกว่าการส่งออกตามโควต้า ที่สมัยก่อนต้องซื้อโควต้ากัน)
- สินค้ามาตรฐาน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับสินค้าส่งออกของไทย ในสินค้าบางประเภท เช่น ข้าวโพด ไม้สักแปรรูป แป้งมันสำปะหลัง ข้าวหอมมะลิปุ๋ย นุ่น ถั่วเขียว ถั่วเขียวผิวดำ การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ ต้องยื่นหนังสือรับรองมาตรฐานสินค้า ก่อนการตรวจปล่อยสินค้าออกนอกประเทศ โดยสามารถตรวจสอบรายละเอียด สำนักมาตรฐานสินค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กรณีของสินค้าไม่ได้มาตรฐานนี้ก็จะคงทราบกันว่าเกิดปัญหาหลายครั้ง ที่มักได้ยินกันบ่อยๆ คือข่าวเรื่อง ข้าวหอมมะลิส่งออกปลอมปนข้าวพันธุ์อื่น จนเสียชื่อประเทศ จนต้องมีมาตรฐานสินค้าออกมา
เนื่องจากข้อมูลกลุ่มสินค้าเหล่านี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ ท่านผู้ประกอบการสามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ www.dft.go.th (แนะนำต้องใช้ explorer นะครับ ใช้ google chrome แล้วระบบไม่ค่อยรองรับ) ในเว็บยังมีข้อมูลน่าศึกษาอีกเยอะเลยนะครับ
สำหรับ สินค้าเสรี หรือ สินค้าทั่วไป ที่ไม่มีกฎเกณฑ์ สามารถส่งออกได้โดยเสรีนั้น เมื่อเวลาเปลี่ยนไป อาจจะมีกฎเพิ่มเติมมานะครับ ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้มีไวรัสโควิท-19 ระบาด ก็ ห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย ภายใต้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.)
นอกจากกฎระเบียบศุลการกรแล้ว ยังมีหน่วยงานราชการอื่น ที่ต้องไปขอเอกสารรับรองตามระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้า ตามชนิดของสินค้าที่จำหน่าย ยกตัวอย่างเช่น ส่งออกผลไม้สด ต้องไปขอ ใบรับรองปลอดโรคพืช สารตกค้าง หรือแมลง ที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือ ส่งออกเครื่องสําอางที่ทํามาจากสมุนไพร ต้องมีใบอนุญาตผลิต จากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข หรือขอออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin: C/O) จากกรมการค้าต่างประเทศ ขอใบรับรองด้านสุขอนามัยสินค้าปศุสัตว์ จากกรมปศุสัตว์ ขอใบรับรองอาหารฮาลาล จากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นต้น
มาถึงตอนนี้ ก็เริ่มมีคำถามที่ทุกคนจะสงสัยเหมือนกันแล้วว่า ถ้าอยากขายได้ เราต้องขอใบรับรองอะไรบ้างละ จากประสบการณ์ที่ผมเคยสอบถามจากบริษัทชิปปิ้ง ได้คำแนะนำว่า เมื่อจะขายสินค้าไปที่ประเทศใด ให้ถามผู้ซื้อประเทศปลายทางว่า พิกัดศุลกากรของสินค้านี้ ประเทศปลายทางของผู้ซื้อจัดพิกัด Harmonized System Coded (HS codes ) รหัสใด แม้ว่าจะเป็นมาตรฐานสากลก็ตาม แต่การจัดกลุ่มสินค้าของศุลกากรแต่ละประเทศ อาจจะไม่เหมือนกัน ควรจะนำรหัสนั้นมาขอปรึกษากับทางชิปปิ้งที่เราจะใช้บริการนะครับ ให้เขาตรวจสอบปลายทางว่าสินค้าหมวดนั้น ต้องมีเอกสารประกอบการนำเข้าในประเทศปลายทางอะไรบ้าง หรือเป็นสินค้าที่จำกัดการนำเข้า เพื่อจะได้ติดต่อทำเอกสารประกอบการส่งออกให้ครบถ้วน ขอย้ำว่าอย่ากลัวเรื่องเอกสารยุ่งยากนะครับ เมื่อส่งออกจนชำนาญแล้ว ก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป และเอกสารบางอย่างไม่จำเป็นต้องขอเป็นรายครั้ง
ในทางกลับกันบางสินค้าต้องมีการรับรองเป็นรายล็อตเลยนะครับ เช่น ลูกค้าของธนาคารเป็นผู้ส่งออกน้ำพริกปรุงสำเร็จไปยุโรป ทางบริษัทผู้ซื้อเขาจะขอให้ส่งตัวอย่างวัตถุดิบทางเครื่องบิน ไปให้ตรวจสอบเชื้อราและสารปนเปื้อนทุกครั้ง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการส่งตรวจแล็บพอสมควร และหากล็อตไหนไม่ผ่านก็ไม่สามารถใช้วัตถุดิบชุดนั้นผลิตสินค้าได้ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อมาตรฐานของผู้ซื้อสูงมาก ต้นทุนผลิตก็สูงตาม ราคาขายก็มีโอกาสทำราคาสูงด้วยเช่นกัน อย่ากลัวที่จะทำตลาดส่งออกนะครับ โอกาสมีอยู่สำหรับผู้มุมานะอยู่เสมอ
ในส่วนของความรู้เรื่องการส่งออกอื่นๆ ติดตามต่อในบทต่อไปนะครับ
หมายเหตุ บทความนี้เป็นบทความสำหรับผู้ที่ตั้งเป้าหมายอยากจะขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศ อาจจะเป็นภาพรวมกว้างๆ หากต้องการรายละเอียดผู้ประกอบการต้องศึกษากฎระเบียบเพิ่มเติมสำหรับสินค้าแต่ละชนิดด้วยนะครับ เพราะสินค้าแต่ละชนิด ประเทศผู้ซื้อแต่ละประเทศ มีกฎระเบียบที่ต่างกัน
Author : รัฐ ลิ่วนภโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
-
ตั้งการ์ดรับมือทำการค้าระหว่างประเทศ ด้วยประกันการส่งออก
หนึ่งในปัญหาคลาสิกในการทำการค้าก็คือ คู่ค้าเบี้ยวชำระเงินหลังจากสั่งซื้อสินค้าไปแล้ว หากเป็นการซื้อขายภายในประเทศ เรายังสามารถติดตามทวงถามได้ง่าย แต่ถ้าในกรณีที่เป็นการค้าการส่งออกระหว่างประเทศ ระยะทางที่ห่างไกลคงเป็นเ...
01.08.2020
-
วิกฤต หรือ โอกาส เมื่อเงินบาทแข็งค่า?
เรามักได้ยินกันอยู่บ่อยๆ เรื่องเงินบาทผันผวน เดี๋ยวแข็งค่า เดี๋ยวอ่อนค่า อัตราแลกเปลี่ยนผันแปรแล้วแต่ช่วงเวลา ตามสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมืองในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้เลย การแข็งค่าข...
15.09.2020
-
เทียบประโยชน์ ทำ-ไม่ทำ FX Options
หนึ่งในเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า หรือ EXAC ขอแนะนำให้ผู้ส่งออกทุกคนทำความรู้จัก และเก็บไว้เป็นตัวเลือกในการตัดสินใจ เลือกใช้บริหารความเสี่ยงในธุรกิจของตัวเองคือ FX Option...
11.09.2020