มือใหม่ส่งออก

อยากส่งออก บอกเอ็กซิมแบงก์ ตอนที่ 4

ในตอนที่แล้ว เราว่ากันเรื่องวิธีการค้า แล้ว ตกลงการค้ากับผู้ซื้อเรียบร้อยแล้ว พร้อมจะส่งออกกันแล้วใช่ไหมครับ  พร้อมจะส่งออกแล้วก็เตรียมพร้อมขนส่งกันนะครับ อย่าลืมจองตารางขนส่งให้เรียบร้อยนะครับ ในช่วงที่พีคมากๆ จองเรือ จองตู้ไม่ทันนี่ อาจผิดเงื่อนไขส่งออกได้นะครับ  มาตอนนี้เรามาเตรียมเอกสารประกอบการค้าระหว่างประเทศ เราจะได้ยินคำเรียก เอกสารที่มักจะพบโดยทั่วไป มีดังนี้ 

Commercial Invoice หรือ ใบกำกับราคาสินค้า ในทางการส่งออกนั้น ขอย้ำว่าต้องมีเอกสารนี้ จึงจะเรียกเก็บเงินได้ โดยเอกสารต้องมีรายละเอียดครบถ้วนเพียงพอให้ผู้ซื้อเอาของออกจากด่านศุลกากรปลายทางนะครับ สามารถหาตัวอย่างเอกสารได้ทั่วไป และมาปรึกษาธนาคารก็ได้ครับ

Packing List รายการบรรจุหีบห่อ ก็คือ เอกสารสำหรับแจ้งว่าสินค้าใด ถูกบรรจุหรือ Packing มาแบบใด อยู่กล่องใด โดยใบนี้จะออกโดยผู้ส่งออก หากเอกสารหายจะระบุสินค้าได้ยากมาก จะยุ่งยากและเสียเวลา  แต่ในอนาคต  กำลังปรับมาใช้ระบบอิเลคทรอนิกส์ เรียกว่า RFID หรือ Barcode แทนระบบเอกสาร

Export Certificate หนังสือรับรองการส่งออก ซึ่งจะใช้สำหรับผู้นำเข้าในบางประเทศ  หากผู้ซื้อระบุมาก็สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจาก กรมการค้าต่างประเทศ

Certificate of Origin หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า เอกสารนี้จะต้องใช้ในเรื่องขอสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร โดยแต่ละแบบฟอร์มสำหรับประเทศปลายทางต่างกันไป ที่เราจะพบก็เรียกว่า FORM A สำหรับการส่งออกไปประเทศที่สินค้าของเราได้สิทธิ GSP,  FORM D สำหรับการค้าในกลุ่ม AFTA หรือ FORM E สำหรับการค้ากับจีน  ทั้งนี้สามารถตรวจสอบข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศนะครับ

Health Certificate หนังสือรับรองสุขอนามัย สำหรับกลุ่มอาหาร ที่เราได้ยินชื่อ เช่น GMP HACCP CEDEX เราต้องเช็คกับผู้ซื้อให้ครบถ้วน และตรวจสอบว่าสินค้าที่จะส่งออกมีหนังสือรับรองสุขอนามัยครบตามที่ผู้ซื้อขอมา   จากประสบการณ์ที่ไปเยี่มชมโรงงานของผลิตสินค้าส่งออก ก็จะเห็นว่าโรงงานแต่ละแห่งโชว์หนังสือรับรองเหล่านี้เต็มไปหมด แต่อย่าประมาทนะครับ เช็คให้ครบก่อนจะตกลงเงื่อนไขการส่งออก เช็คให้ชัวร์ว่าแหล่งผลิตให้เรามีเอกสารเหล่านี้ครบหรือไม่

Inspection Certificate รับรองการตรวจสอบ ซึ่งโดยทั่วๆ ไป ผู้ซื้อจะกำหนดให้มีหน่วยงานกลาง หรือ Surveyor เป็นผู้ตรวจสอบ จำนวน คุณภาพ เป็นหนังสือรับรองสำคัญสำหรับการค้า ที่จะนิยมใช้ในกรณีที่ยังไม่รู้จักผู้ขายดี การมีการรับรองการตรวจสอบจะช่วยให้ผู้ซื้อมั่นใจในคุณภาพสินค้า เพราะเคยมีตัวอย่างกรณีที่คนไทยนำเข้าของจากต่างประเทศ แต่ของในตู้ส่งมาเป็นแท่งคอนกรีต หรือ ขยะ เพราะขาดหนังสือรับรองใบนี้

Customs Invoice  ใบกำกับราคาสินค้าของศุลกากร เพื่อสะดวกในการคำนวนภาษี ซึ่งจะแยกราคาค่าเรือ ค่าเบี้ยประกัน ออกจากราคาสินค้าที่จะคำนวนภาษี

Consular Invoiceใบกำกับราคาสินค้าของสถานกงศุล ซึ่งออกโดยสถานฑูตหรือสถานกงศุลของประเทศที่นำเข้า ที่ตั้งอยู่ในประเทศผู้ขายเพื่อรับรองราคาสินค้า  

Fumigation Certificate เอกสารรับรองการรมยา หรือรมควัน เพื่อกำจัดแมลง โรคระบาดของพืช มักจะต้องใช้สำหรับการส่งออกสินค้าที่มีส่วนประกอบของไม้ เช่น กล่องไม้ ลังไม้ แพลเลต เนื่องจากประเทศผู้ซื้อเขากลัวพาหะนำโรค โดยสามารถติดต่อขอจากกรมวิชาการเกษตร

Phytosanitary Certificate รับรองความปลอดภัยจาก แมลง ศัตรูพืช จะใช้มีกรณีที่จะส่งออก ผัก ผลไม้ ดอกไม้ตัดดอก รวมถึงต้นไม้ก็จะมีเรื่องของแมลงติดไปกับดินที่ปลูกต้นไม้ ต้องหาหนังสือรับรองแนบไป

Sanitary Certificate รับรองสุขอนามัย เท่าที่เคยเจอก็ใช้สำหรับอาหารแช่แข็ง เนื่องจากเป็นอาหารพร้อมทาน ต้องมีถูกสุขลักษณะ

Analysis Certificate หนังสือรับรองการวิจัยวิเคราะห์สินค้า เพื่อการตรวจสอบสินค้าทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ทราบถึงส่วนผสมต่างๆ ที่มีอยู่ในสินค้า เช่น สินค้าอาหาร วิเคราะห์ว่าไม่มีสิ่งเจือปนที่เป็นพิษ อันนี้มีกรณีตัวอย่างมาแล้ว มีพวกทำธุรกิจขายตรงอาหารบำรุง เอาสูตรมาจดและผลิตในไทย ก็ไม่มีปัญหาอะไรพอขายดีมากๆ ผลิตไม่ทัน ก็นำเข้าจากที่อื่นมาขายเพิ่ม โดยไม่ได้วิเคราะห์ส่วนผสม โดนตำรวจรวบตัวเพราะส่วนผสมในอาหารเสริมที่นำเข้ามีแอมเฟตามีนผสมอยู่ เลยเข้าข่ายผู้จำหน่ายสารเสพติด และรวมปริมาณในโกดังมีเยอะมาก เลยเป็นคดีผู้ค้ายารายใหญ่ไปด้วย  จะทานอาหารเสริมอะไรก็ระวังกันด้วยนะครับ

Insurance Policy กรมธรรม์ประกันภัย คือเอกสารประกันภัยคุ้มครองความเสี่ยงภัยในการขนส่งตลอดเส้นทางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยหากเงื่อนไขของการซื้อ ผู้ซื้อกำหนดให้ส่งมอบกรมธรรม์การประกันภัยสินค้า ผู้ส่งออกก็ต้องจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยให้ผู้ซื้อด้วย เผื่อราคาส่วนนี้ไว้ด้วยนะครับ

Certificate of Free Sales หนังสือรับรองการจำหน่ายสินค้า จะขอในกลุ่มธุรกิจอาหาร หรือเครื่องสำอาง ที่ยืนยันว่ามีจำหน่ายเสรีในประเทศไทย โดยไม่มีข้อจำกัด

 Bill of Exchange ตั๋วแลกเงิน หนังสือเอกสารตราสารทางการเงิน ออกโดยผู้ซื้อ สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินให้กับผู้ขาย โดยธนาคารจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในการเรียกเก็บเงินค่าสินค้าให้กับผู้ส่งออก

เอกสารอื่นๆ ที่อาจขอมา ถ้าผู้ส่งออกตรวจสอบแล้วไม่สามารถจัดหาได้ ต้องตกลงกันให้เรียบร้อยก่อน

Delivery order ใบปล่อยสินค้า – ใบนี้ผู้นำเข้าจำเป็นต้องใช้สำหรับนำไปปล่อยตู้สินค้าที่ท่าเรือหรือท่าอากาศยาน โดยผู้ที่จะออกใบนี้ คือ ผู้ให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ เช่น บริษัทเดินเรือ 

Export / Import entry ใบขนสินค้าขาออก / ขาเข้า  เป็นเอกสารสำหรับแจ้งข้อมูลสินค้าทั้งชนิด ราคา จำนวนให้กับกรมศุลกากรทราบ โดยนำไปคิดภาษีและจัดเก็บข้อมูลการนำเข้าส่งออก เอกสารนี้ดำเนินการโดยบริษัทชิปปิ้ง

จบเรื่องเอกสาร มาต่อเรื่องวิธีการเดินเรื่องส่งออกกันต่อนะครับ

 

เอกสารที่ต้องใช้

ก่อนจะเดินเรื่องส่งออก  ต้องเตรียมเอกสารเหล่านี้ก่อนจะไปยื่นเรื่องนะครับ

  1. ใบขนสินค้าขาออก (แบบ กศก. 101/1) ซึ่งต้องมีเอกสารต้นฉบับและสำเนาอย่างละ 1 ฉบับ
  2. บัญชีราคาสินค้า (Invoice) 2 ฉบับ
  3. แบบธุรกิจต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า ธต.1 จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งจะใช้สำหรับการส่งออกที่มีราคา FOB เกิน 500,000 บาท
  4. ใบอนุญาตส่งออกหรือเอกสารอื่นๆ สำหรับสินค้าที่ควบคุมการส่งออก
  5. อื่นๆ เช่น
  • สำเนาใบคู่ฉบับในขนสินค้า (ที่เรียกว่า มุมน้ำเงิน) 3 ฉบับ เพื่อยืนยันการส่งออก เช่น ส่ง BOI กรมการค้าต่างประเทศ กรมสรรพามิต ตามเกณฑ์ของกิจการ และชนิดสินค้า
  • เอกสารการขอคืนอากร ตามมาตร 19 ทวิ (แบบ กศก. 113) 1 ฉบับ

เดินเรื่องส่งออก

เมื่อเอกสารพร้อมก็เดินเรื่องผ่านระบบออนไลน์ โดยมี 3 ขั้นตอน คือ

  1. บันทึกข้อมูลเข้าระบบ e-customs ก็จะมีขั้นตอนย่อยๆ ดังนี้
    • บันทึกข้อมูลสินค้าเข้าระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ โดย เราสามารถยื่นเอง ให้ชิปปิ้งทำให้ หรือไปบันทึกข้อมูลที่เคาท์เตอร์บริการ ก็ได้
    • ระบบออกเลขที่ใบขนสินค้า14 หลัก และสำหรับสินค้าที่ต้องเสียภาษีส่งออก เช่นหนังโคกระบือ หรือ ไม้มะพร้าวไม้รวก ระบบก็จะแจ้งยอดชำระให้ชำระก่อนการส่งออก
    • นำเลข 14 หลัก มาบันทึกข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้า ในระบบ
    • ระบบจะออกเลขที่ใบขนสินค้า 14 หลัก
    • นำใบกำกับการขนย้ายสินค้าไปยื่นที่ท่าเรือ

โดยใบขนสินค้าขาออกนั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ  กลุ่มที่ต้องการตรวจสอบพิธีการ หรือเรียกว่า  Red Line ต้องไปติดต่อหน่วยงานประเมินอากรก่อน และกลุ่มที่ไม่ต้องตรวจสอบพิธีการ หรือ Green Line สามารถชำระค่าอากร และดำเนินการไปตรวจปล่อยได้เลย

  1. พิธีการศุลกากรและการจัดการที่ท่าเรือ มีขั้นตอนดังนี้
    • ยื่นแบบขอนำตู้สินค้าผ่านเข้าเขตศุลกากร โดยต้องยื่นก่อนรถบรรทุกตู้สินค้าจะมาถึงท่าเรือ
    • รับมอบตู้สินค้าขาออก โดยรถบรรทุกตู้สินค้าต้องมาถึงท่าเรือก่อนเรือเทียบท่า ตามที่กำหนดไว้ มีขั้นย่อยดังนี้
      • เมื่อผ่านเข้า Main Gate พนักงานขับรถชำระค่าภาระยกขนตู้สินค้า และค่ายานพาหนะผ่านท่า
      • เจ้าหน้าที่ด่านตรวบสอบ ทำการชั่งน้ำหนัก ตรวจสอบประเภทสินค้า สภาพตู้สินค้า และใบกำกับการขนย้ายสินค้า จึงจะออกใบตรวจรับสภาพตู้สินค้า (EIR) พร้อมแจ้งตำแหน่งที่กอง หรือเก็บตู้สินค้านั้นแก่พนักงานขับรถ
      • ขั้นตรวจสอบของศุลกากร เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะบันทึกหมายเลขใบกำกับการขนย้ายตู้สินค้า พร้อมตรวจสอบข้อมูลในระบบ ซึ่งอาจจะมีการสุ่มตรวจสอบสินค้าด้วยระบบ X-Ray
      • เจ้าหน้าที่ยกขนตู้สินค้าลงจากรถและกองเก็บ
  2. กระบวนการบรรทุกตู้สินค้าลงเรือ มี 3 ขั้นตอน ดังนี้
    • บริษัทเรือยื่นเอกสารบัญชีตู้สินค้าบรรทุกลงเรือ (Container Loading List) ก่อนทำการบรรทุกตู้สินค้าลงเรือ
    • เจ้าหน้าที่บรรทุกตู้สินค้าลงเรือ โดยจะตรวจสอบข้อมลตู้สินค้าทางระบบและวางแผนการบรรทุกตู้
    • เจ้าหน้าที่ออกรายงานสรุปตู้สินค้าบรรทุกลงเรือ

เมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ระบบคอมพิวเตอร์จะแจ้งสถานะการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรกลับมาให้เราทราบ

ที่เน้นย้ำในการเตรียมการส่งออก คือ ต้องจองพื้นที่การขนส่งไว้ล่วงหน้า เพื่อให้มีพาหนะรับสินค้า และดำเนิการชำระค่าขนส่ง เพื่อรับใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading หรือ Air Waybill) ส่งให้ผู้รับสินค้าปลายทาง นะครับ

ส่งออกแล้วก็รอรับเงินค่าสินค้ากันได้แล้ว วางแผนหาลูกค้าล็อตถัดไปกันได้เลยครับ

 

 

Author : รัฐ ลิ่วนภโรจน์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า  ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

 

Most Viewed
more icon
  • อยากส่งออก บอกเอ็กซิมแบงก์ ตอนที่ 1

    ผมมีเพื่อนบางคนที่ประสบความสำเร็จในการทำการค้าระหว่างประเทศ เราก็แอบอิจฉาเพื่อนว่า ทำไมเขาร่ำรวยรวดเร็วจัง จับอะไรมาขายก็เป็นเงินเป็นทอง ส่งออกวันละหลายตู้คอนเทนเนอร์ ประสบความสำเร็จด้วยสองมือเปล่าและความสามารถ ธุ...

    calendar icon08.04.2020
  • ตั้งการ์ดรับมือทำการค้าระหว่างประเทศ ด้วยประกันการส่งออก

    หนึ่งในปัญหาคลาสิกในการทำการค้าก็คือ คู่ค้าเบี้ยวชำระเงินหลังจากสั่งซื้อสินค้าไปแล้ว หากเป็นการซื้อขายภายในประเทศ เรายังสามารถติดตามทวงถามได้ง่าย แต่ถ้าในกรณีที่เป็นการค้าการส่งออกระหว่างประเทศ ระยะทางที่ห่างไกลคงเป็นเ...

    calendar icon01.08.2020
  • วิกฤต หรือ โอกาส เมื่อเงินบาทแข็งค่า?

    เรามักได้ยินกันอยู่บ่อยๆ เรื่องเงินบาทผันผวน เดี๋ยวแข็งค่า เดี๋ยวอ่อนค่า อัตราแลกเปลี่ยนผันแปรแล้วแต่ช่วงเวลา ตามสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมืองในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้เลย การแข็งค่าข...

    calendar icon15.09.2020