การเงิน - บริหารจัดการ

วิศวกร อย่ามองข้าม “บัญชีและการเงิน”

เป็นความนิยมของเด็กไทยที่เรียนเก่ง ไม่เรียนแพทย์ก็วิศวะ แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อเรียนจบแล้วก็มีคนที่ไม่ประกอบอาชีพตรงกับสาขาที่เรียน อย่างเช่น คนเรียนจบวิศวะมาเป็นนายแบงก์ มาเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรชั้นนำระดับประเทศ และมาประกอบอาชีพอิสระเปิดบริษัทของตัวเองในการทำธุรกิจ

พูดถึงวิศวกรไทยนั้น ผมเห็นว่ามีความรู้ความสามารถไม่แพ้วิศวรกรต่างชาติ เคยทราบหรือไม่ว่า สนามบินนานาชาติในหลายประเทศ ใช้บริการบริษัทวิศวกรไทยในการวางระบบรักษาความปลอดภัยในสนามบิน ซึ่งเป็นทีมงานที่มีคุณภาพงานระดับโลก

ผมเคยแวะไปหาบริษัทที่รับทำระบบรักษาความปลอดภัยให้กับสนามบินนานาชาติหลายประเทศ  ในโรงงานมีเด็กวิศวกรหนุ่มๆ ง่วนกับการทำอุปกรณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ มีทั้งส่วนที่ทำระบบบัตรคิวธนาคาร  ระบบตู้ล๊อกเกอร์รับฝากของ และระบบฝากส่งไปรษณีย์แบบออโต้ ตู้เวนเดอร์ขายน้ำกระป๋องที่มีจอโฆษณาหน้าตู้ เหล่านี้เป็นความสามารถของวิศวกรไทย 

การเป็นเจ้าของกิจการนั้น ไม่ใช่ว่าวิศวกรที่ผันตัวมาประกอบธุรกิจเอง จะประสบความสำเร็จทุกราย  เพื่อนผมหลายคนไปขอสินเชื่อไม่ผ่าน  เนื่องจากบัญชีที่ยื่นสรรพากร ขาดทุนมโหฬาร เลี่ยงภาษีตามที่นักบัญชีแนะนำ พอธนาคารถามรายละเอียดในงบก็ตอบไม่ได้ เพราะไม่ได้ใส่ใจในงบการเงินที่ยื่นสรรพากรเลย แถมยังแย้งเจ้าหน้าที่ธนาคารอีกว่า เขาจบวิศวะ ไม่ใช่บัญชี  

เรื่องนี้ผมเห็นว่า เมื่อเพื่อนสวมหมวกเจ้าของกิจการแล้ว จะไม่รู้เรื่องการทำกำไรและสถานะกิจการไม่ได้  หากเราไม่รู้เรื่องภายในบริษัทเราเองถือว่าเราบริหารไม่ดี  ซึ่งจะอยู่ได้หากคุณใช้เงินทุนของตัวเอง หรือระดมจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ หรือเจ้าหนี้ในระบบ ข้อเสียของกิจการที่ใช้เงินทุนของตัวเอง ก็คือจะขยายกิจการได้ช้า และการใช้เงินกู้นอกระบบ ก็มีต้นทุนดอกเบี้ยสูงกว่ามาก ทำให้เสียเปรียบในการแข่งขันกับคู่แข่งที่มีต้นทุนทางการเงินต่ำกว่า แต่หากคุณต้องการเงินทุนเพื่อมาขยายกิจการ คุณจะต้องคิดใหม่ทำใหม่  

เรื่องที่ผู้ประกอบการต้องรู้ เรื่องสำคัญคือบัญชีและการเงิน ที่ผู้จะเริ่มเป็นเจ้าของกิจการเองต้องรู้จักให้ลึกซึ้ง สามารถเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตในทุกด้านว่าเป็นอย่างไร ไม่ใช่คิดแต่ว่าทำเช่นนี้แล้วต้นทุนต่ำ แต่ไม่ได้นำเอาต้นทุนแฝงมาคิดด้วย

ตัวอย่างที่ผมเคยไปดูกิจการลูกค้ารายหนึ่งก่อนเสนอสินเชื่อ ผมเดินไปในโกดังโรงงาน มีโทรทัศน์จอแบนยังไม่แกะกล่อง  คอมพิวเตอร์เก่า  สายไฟ เศษแผงวงจรไฟฟ้ากองไว้ ค่อนข้างเยอะ เป็นสิ่งที่วิศวกรเจ้าของกิจการรายนี้ตอบแบบไม่เต็มปากว่า  เมื่อก่อนใช้นโยบายผลิตเองทั้งหมด งานแผงวงจรไฟฟ้าทุกอย่างทำเองในโรงงานนี้ ออกแบบตัดแผงวงจร และมาเชื่อมประกอบไอซีเอง ซึ่งต้นทุนถูก ได้กำไรมาก

แต่ปัญหาที่ตามมา คือ เหลือเศษวัสดุที่ไม่ได้ใช้จำนวนมาก  เช่นบางงานต้องซื้อแผงวงจรขั้นต่ำมาพันชิ้น ใช้ไปผลิตไปแค่สองร้อยชิ้น แม้ว่าราคาต้นทุนโดยรวมจะถูกกว่า แต่เดี๋ยวนี้ใช้จ้าง out source ข้างนอกทำมาจำนวนเท่าที่ต้องการใช้ก็พอแล้ว ราคาแพงกว่า แต่นับรวมแล้วไม่มีเงินค้างในสต็อกสินค้าวัตถุดิบ และอีกประการหนึ่ง คือ สินค้าเทคโนโลยีเหล่านี้ล้าสมัยเร็ว การซื้อมาเผื่อ อาจจะไม่ได้ใช้อีก เรื่องเทคโนโลยีที่ล้าสมัยจึงเป็นเรื่องที่ควรคิดประกอบเพิ่มจากทฤษฎีต้นทุนการผลิตด้วย

สิ่งที่ควรศึกษาเมื่อจะเริ่มต้นโครงการ ปัญหาที่เกิดขึ้น จากการพบปะกับวิศวกรบางท่าน คือ เรื่องการบริหารต้นทุนโครงการ เนื่องจากตอนขอสินเชื่อสร้างโรงงานนั้น วางแผนคิดต้นทุนที่สร้างด้วยตนเอง แต่ในทางปฏิบัติต้องใช้ผู้รับเหมามารับทำ  มีหลายรายเกิดปัญหามูลค่าโครงการสูงเกินแผนงาน (Project Overrun) และเมื่อเงินขาด ไม่เพียงพอ จะไม่สามารถบริหารต้นทุนได้ ต้องไปใช้แหล่งเงินนอกระบบ ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย อีกทั้งไม่ได้เตรียมการรองรับการบริหารสภาพคล่อง การจัดการสินค้าคงคลัง โกดังไม่มีที่เก็บของ ฝนตกน้ำท่วมสินค้า ขาดทุนหนักมากจนต้องเลิกกิจการไป 

ศาสตร์ที่ควรรู้ระหว่างการทำธุรกิจ สำหรับเจ้าของกิจการ ที่คิดจะนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาขายในประเทศ  หรือผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศนั้น จะต้องเรียนรู้เรื่องวิธีการค้าระหว่างประเทศด้วย เพราะการค้าระหว่างประเทศ ไม่ใช่ว่าจะยื่นหมูยื่นแมว ชำระเงินรับของหน้าโรงงานได้ เพราะต้องมีกระบวนการขนส่ง และโอนเงินชำระระหว่างประเทศ จะโอนแบบ Open Account หรือ L/C  และต้องเรียนรู้เรื่องการปัองกันความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย  (เช่น Forward Contract หรือ FX Options)  ประการสำคัญอีกเรื่อง คือ การตรวจสอบคุณภาพสินค้าจากประเทศต้นทาง เพราะเคยมีกรณีตัวอย่างกันมาแล้วว่า มีตู้สินค้าส่งมาจริง แต่ในตู้เป็นก้อนหิน หรือสินค้าเสื่อมสภาพ ไม่ตรงสเป็คที่สั่ง เหล่านี้ต้องเรียนรู้ด้วย   ในส่วนของวิชาการตลาด การบริหารจัดการ การบริหารงานบุคคล นั้นอาจจะเป็นศิลป์ในการใช้คน และการรักษาคนเก่งให้อยู่กับเราได้นาน

ฝากทิ้งท้ายให้ผู้ประกอบการที่เริ่มต้นจากการเรียนสายงานด้านวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ไม่ว่าวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรืออื่นๆ การทำธุรกิจ เป็นการนำธุรกิจไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ผู้บริหารหรือหวังว่าจะเป็นผู้บริหารในอนาคต ควรศึกษาเพิ่มเติมในทุกศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ ไม่ควรโยนเป็นภาระให้ผู้อื่นโดยตนเองไม่ศึกษาเลย ซี่งอาจจะเป็นผลร้ายต่อธุรกิจของท่านเองได้

สำหรับแหล่งการเรียนรู้นั้น มีหน่วยงานภาครัฐ หลายแห่งที่สนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจ มีการจัดอบรมให้ความรู้ด้านต่างๆ มากมายให้ค้นหา และส่วนของ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK เองก็มีศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า ที่ช่วยบ่มเพาะ ส่งเสริมความรู้ให้กับผู้ประกอบการ สามารถติดตามหลักสูตรการสอนดีๆ ได้นะครับ

 

        Author : รัฐ ลิ่วนภโรจน์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า  ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

Most Viewed
more icon
  • แต่งบัญชี หวังจะเลี่ยงภาษี

    แต่งบัญชี หวังจะเลี่ยงภาษี ในอดีต เราคงจะเคยได้ยินเรื่องที่ผู้ประกอบการ มักจะทำบัญชีสองเล่ม โดยมีเหตุผลว่าเพื่อใช้สำหรับกู้เงินกับธนาคารและใช้สำหรับยื่นเสียภาษีเงินได้ บัญชีทั้ง 2 เล่มนี้ มีความแตกต่างกันในเรื่อง...

    calendar icon20.05.2020
  • 5 วิธี พาธุรกิจฝ่าวิกฤตตามแนวคิด Lean Management

    ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังระส่ำระส่ายจากความท้าทายรอบด้าน ทุกธุรกิจต่างได้รับผลกระทบกันทุกหย่อมหญ้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทางรอดของผู้ประกอบการมีหลายทาง แต่วันนี้เราอยากชวนผู้ประกอบการมารู้จักกับแนวคิดการบริหา...

    calendar icon03.05.2020
  • ต้องทำอย่างไรเมื่อผู้ซื้อในต่างประเทศยื่นล้มละลาย

    ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 ยังคงกระจายอยู่ในหลายประเทศ และยังไม่มีวี่แววว่าจะสงบลงเมื่อใด เราก็เริ่มได้ข่าวการหดตัวของกิจการใหญ่ชื่อดังหลายราย ที่เริ่มจากการลดสาขา ลดกำลังการผลิต หรือหยุดการผลิตชั่วคร...

    calendar icon09.07.2020