Exporter World Talk

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564
Exporter World Talk EP:06 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า เชิญคุณชูพล สุขแสนเจริญ หัวหน้าสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ณ กรุงพนมเปญ มาสนทนาอัปเดตสถานการณ์การค้าและการลงทุนในกัมพูชา ว่าได้มีการปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้างในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19
คุณชูพลเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกัมพูชาว่า รัฐบาลกัมพูชาสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ดี เห็นได้จากผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคจนถึงปัจจุบันแค่ 479 รายเท่านั้น ถือว่ารัฐบาลกัมพูชควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ดี ทำให้บรรยากาศการใช้ชีวิตในกัมพูชาค่อนข้างจะคึกคัก คนออกมาจับจ่ายใช้สอยกัน แทบจะเป็นปกติแล้ว เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเดินไปสำรวจตามที่ต่างๆเป็นช่วงตรุษจีนพอดี ตลาดสดคนหนาแน่นขึ้นส่วนห้างสรรพสินค้าเอง ที่ผ่านมาเป็นช่วงที่จัดโปรโมชั่นคนออกมาช้อปปิ้งเดินซื้อของหนาแน่นที่จอดรถเต็มหมด อีกเรื่องหนึ่ง ที่ต้องแสดงความยินดีก็คือเวลานี้โรงเรียนเริ่มเปิดเรียนนักเรียนได้เห็นหน้าคุณครู จากก่อนหน้านี้มีการเรียนออนไลน์นักเรียนจะได้เจอเพื่อน
สำหรับการเดินทางเข้าออกกัมพูชา ต่อให้สถานการณ์ในประเทศเริ่มจากควบคุมได้แล้วแต่ทางรัฐบาลเองก็ยังคงประคองและรักษามาตรฐานอยู่ ผู้ที่จะเดินทางเข้ามาในกัมพูชาปัจจุบันยังต้องมีการกักตัว 14 วัน และก่อนนเดินทางต้องมีการเตรียมเอกสารหลายอย่าง การขอวีซ่าอาจจะต้องมีการทำประกันสุขภาพที่คุ้มครองโรค covid ด้วย ดังนั้นการเดินทางอาจจะยังมีความยุ่งยากบ้าง การเดินทางยังมีการ self-quarantine อยู่ ฉะนั้นเรื่องการท่องเที่ยวอาจจะยังล็อคดาวน์อยู่และแม้ว่าสถานการณ์ทั่วไปจะคลี่คลายแล้วแต่ตามสถานที่ราชการ หรือธนาคารต่างๆ ก็ยังควบคุมมาตรการตรวจวัดอุณหภูมิอยู่ และมีจุดให้บริการเจลแอลกอฮอล์ต่างๆ
การเดินทางเข้าออกของคนทั้ง2 ประเทศตามชายแดน ต้องมีการตรวจสอบ ส่วนสินค้าผ่านแดนก็ยังคงผ่านได้ แต่ต้องรอคิวและมีขั้นตอนการตรวจสอบที่ตัวด่านผ่านแดน
บรรยากาศในพนมเปญ ช่วงที่โควิด-19 ระบาด การก่อสร้างถนนหนทาง อาคารขนาดใหญ่ต่างๆ อาจจะชะลอโครงการออกไปบ้าง เนื่องจากการเดินทางเข้าออกประเทศของทีมวิศวกรต่างขาติ หรือ ที่ปรึกษาโครงการไม่สะดวกเหมือนก่อน
“ผมเองก็ยังไม่ได้กลับประเทศไทยเหมือนกันครับ” คุณชูพล กล่าว
สำหรับร้านค้าในพนมเปญที่เป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหารจีน ก็ไม่คึกคัก ถ้าลูกค้าไม่มากก็ปิดตัวลง ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลกัมพูชามีการกระตุ้นให้กับคนกัมพูชาได้ออกไปจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นหรือว่าเดินทางระหว่างเมืองมากขึ้น อย่างเช่นตอนสงกรานต์ปีที่ผ่านมามีปัญหายกเลิกเทศกาลสงกรานต์เมื่อเมษายนรัฐบาลก็ชดเชยให้จากที่หยุด 4 วัน ก็จะช่วยให้เป็นหยุด 5 วัน หยุดยาวรวมเป็น 9 วันเลย ตอนนั้นก็ถือว่าเป็นจังหวะดีเป็นช่วงที่สถานะ covid เบาบางลงเรื่องการท่องเที่ยวและเรื่องการเดินทางระหว่างเมืองก็ไม่ได้มีการล็อกดาวน์หรือไม่ได้มีข้อจำกัดอะไร เขาพยายามที่จะกระตุ้นให้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยและเดินทางกลับบ้านไปในแนวนั้นมากกว่า แต่ยังไม่ได้ไปในแนวที่ว่าให้เงินช่วยเหลือหรือว่าอะไรจะมีแยกออกไปนิดนึงอาจจะเป็นมาตรการช่วยเหลือแรงงานมากกว่าที่เขาอาจจะตกงานเนื่องจากโรงงานที่ทำงานอยู่ปิดตัว ก็คือเขาจะเข้าไป support ในเรื่องของค่าแรงของแรงงานมากกว่า ไม่ได้มีให้เงินแบบเราชนะบ้านเรา
คุณชูพลย้อนกลับมาเล่าถึง สถานการณ์การค้าการลงทุนว่า ในกัมพูชาเอง ก็ได้รับผลกระทบพอสมควร มีตัวเลข 3-4 ตัว ที่สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ในปีที่ผ่านมา ตัวเลขการส่งออกรวมของกัมพูชาเมื่อปีที่ผ่านมาเติบโต 16% สินค้าที่ส่งออกไปได้มากที่สุดคือสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ แต่ว่ากลับกันสินค้าที่เติบโตน้อยลงก็จะเป็นเครื่องนุ่งห่ม และตลาดส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นก็คือตลาดอเมริกา สิงคโปร์ จีน ซึ่งเหล่านี้เป็นตลาดใหม่ๆที่เติบโตเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
ทีนี้ย้อนมาดูสถานการณ์การค้าของไทยกัมพูชาบ้าง ก่อนหน้านี้มีความร่วมมือระหว่างไทยกัมพูชา ที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันภายในปีที่ผ่านมาปี 2020 แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้ปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าเหลือเพียง7 พันกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับปีก่อนหน้าลดลงไป 23 % ไทยส่งออกมากัมพูชาก็ติดลบเกือบ 15 เปอร์เซ็นต์ การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา มูลค่าในปีที่ผ่านมาก็ติดลบลงไปได้มาก โดยมีสินค้าส่งออกไทยที่ส่งออกมากัมพูชาอันดับต้นๆ คือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์สินค้าปศุสัตว์อื่นๆ อันนี้ยังไปได้อยู่ ถือว่าเติบโตยังไม่ติดลบหรือว่าติดลบไม่มาก
ภาคการลงทุน ก็ต้องบอกว่านี่ไม่ได้กระทบระหว่างไทยกับกัมพูชาแต่ก็กระทบการค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านหลายๆ ประเทศ ทางกัมพูชามีหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนคล้ายกับ BOI ของไทย ปกติเราจะคุยกันว่าถ้าส่งออกดี ส่งออกได้เยอะ ผู้ส่งออกไทยออกไปลงทุนในประเทศปลายทาง สามารถขายของได้ง่ายขึ้น และทราบว่าช่วงที่ผ่านมาประเทศกัมพูชาเองได้มีการปรับ กฎระเบียบอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการค้า เพื่อเอื้อต่อการให้ผู้ประกอบการต่างประเทศเข้าไปลงทุนที่กัมพูชา ในสถานการณ์ที่ส่งออกไม่ค่อยดีการ ในบรรยากาศแบบนี้ การลงทุนก็จะชะลอตัวเช่นกัน
“คือจริงๆ ต้องบอกว่ารัฐบาลกัมพูชาเอง มีนโยบายเปิดเสรีทางการค้า คนที่จะเข้ามาลงทุนในกัมพูชาจะมีข้อจำกัด ค่อนข้างน้อย ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามที่จะปรับปรุงกฎหมายการค้า เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและข้อจำกัดทางธุรกิจลง ในช่วงที่ผ่านมาที่เป็นช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด รัฐบาลพยายามที่จะออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และช่วยผู้ประกอบการ เช่น มาตรการที่จะลดอัตราการนำเข้า หรืออัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้กับโรงงานผู้ผลิตในกัมพูชา หรือผู้ที่มีฐานผลิตในกัมพูชา อันนี้เป็นตัวนึงที่จะช่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในกัมพูชา” คุณชุมพล กล่าว
การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นโอกาสที่ทำให้การค้าขายออนไลน์ขยายตัวขึ้นมาก ซึ่งในกัมพูชาก็เช่นกัน คุณชูพล กล่าวว่า บริการฟู๊ดเดลิเวอรี เติบโตขึ้นมาก เหมือนในประเทศไทย ผมเองก็ใช้บริการบ่อย มีเรื่องขำขำตรงที่ว่าอย่างผมจะมีร้านข้าวหน้าเป็ดขาประจำอยู่เจ้าหนึ่งคิดอะไรไม่ออกจะกินอะไรก็สั่งข้าวหน้าเป็ด เดินไปแป๊บเดียวถึง แต่ผมก็สั่งฟู้ดแพนด้า กลับกลายเป็นว่าราคาถูกกว่าที่ผมเดินไปซื้อกินเอง เนื่องจากแอพพลิเคชั่นเหล่านี้จัดโปรโมชั่นต่างๆ เหมือนที่ไทยเลย ที่กัมพูชาจะเห็นมอเตอร์ไซค์ที่เป็นผู้ส่งอาหารของแบรนด์ต่างๆ วิ่งในเมืองให้วุ่นเลย การสั่งซื้อออนไลน์เดลิเวอรี่เริ่มเป็นเทรน หลักของกัมพูชาแล้ว แสดงว่าบรรยากาศของการออนไลน์ต่างๆ มันคึกคัก
“กัมพูชามีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตราว 8 ล้านคน จากประชากรราว 17 ล้านคน หรือราว 50% ของจำนวนประชากรกัมพูชาทั้งหมด ตอนนี้คนเริ่มมีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ ช่องทางที่นิยมในกัมพูชาน่าจะคล้ายๆ กับประเทศไทยคือช่องที่เป็น e-marketplace กับที่นิยมทั่วไปคือ Facebook ในกัมพูชามีผู้ลงทะเบียนเป็น Facebook User อยู่ประมาณ 8 ล้านกว่าคน ปฏิเสธไม่ได้ปัจจุบันนี้คนแทบจะไม่ได้ดูทีวีกันแล้ว วิทยุเองก็แทบจะไม่ได้เปิด คนขับรถระหว่างรอเมื่อก่อนจะเปิดวิทยุฟังข่าว ปัจจุบันก็คือดูมือถือ แพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมในกัมพูชา เจ้าหลักๆก็จะมี Facebook และ Instagram ส่วนจะมีการสั่งซื้อสินค้าไทยทางออนไลน์ไหม จริงๆต้องมองว่าสินค้าไทยเป็นสินค้าโดยพื้นฐานเป็นที่นิยมอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการไทยที่เข้ามาขายสินค้าของตัวเอง และจะมีที่เป็นผู้ประกอบการกัมพูชาที่เอาสินค้าไทยนำเข้ามาขาย โดยพื้นฐานก็คือสินค้าไทยเข้ามาอยู่แล้วแต่ก็คือถ้าจะเอาแบบไทยแน่นอนเลยก็คือเขาจะมีบริการติดต่อ มีการเตรียมพร้อมมีทีมงานที่พูดภาษาเขมรได้ว่าใครสนใจสินค้าอะไร พอจะสั่งซื้อก็จะมีบริการส่งและเก็บเงินปลายทาง
ส่วนการที่ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนนประเทศไทย จะ Live ขายสินค้า หรือโพสขายสินค้ากัน ทางกัมพูชาเห็นแล้วจะสนใจสั่งซื้อได้ไหม เรื่องนี้ผมว่าเป็นช่องทางที่ดีแล้วก็เริ่มต้นได้ง่ายเลยเพราะเข้าใจว่าเรื่องของการออนไลน์มันไม่มีขอบเขตและไม่มีข้อจำกัดฉะนั้นเราสามารถที่จะทำ Facebook Page ของตัวเอง แต่ว่าอาจจะแนะนำว่าอาจจะต้องปรับเรื่องของ Content ของสินค้าหรือว่าตัวเพจให้เป็นภาษาของที่นี่ ซึ่งจะง่ายกว่ากับผู้ใช้หรือผู้ที่สนใจและเข้าใจว่ามันสามารถที่จะตั้งค่าในการที่จะยิงโฆษณาเข้าไปถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ และราคาสินค้าต่างๆ น่าจะสามารถที่จะกำหนดซื้อขายเป็นเงินดอลลาร์หรือเป็นเงินเรียล เพราะว่าที่นี่นิยมที่จะใช้เงินดอลลาร์หรือเงินเรียล
“ผู้ประกอบการในไทย จะต้องเตรียมอย่างที่บอก คือบุคลากรที่จะมาประสานงาน ถ้าสมมติมีคนสนใจเขาก็ต้องเข้ามา Inbox ในแชท แต่ทีนี้ถ้าเป็นภาษาอังกฤษเขาอาจจะไม่ค่อยถนัดก็อาจจะต้องมีคนที่จะมาช่วยสื่อสารภาษาเขมร เข้าใจว่าในการซื้อขายอาจจะต้องมีการคุยเรื่องรายละเอียดหรือสีใช้อะไรต่างๆ ต้องมีทีมที่จะเข้ามาเจรจากับผู้ที่สนใจและจะต้องมีการทำหลังบ้านอย่างที่บอก ถ้าสามารถขายผ่านช่องทางนี้ได้ คงยังไม่ต้องเดินทางมาที่กัมพูชา อาจจะเริ่มลองสินค้าออนไลน์ก่อนก็เป็นการดี” คุณชูผลกล่าว
ทางด้านของการขยายแฟรนไชส์ไทยมาในกัมพูชา ขอบอกว่าจังหวะนี้มีโอกาสมากๆที่จะเข้าไปต้องเข้าใจว่าประเทศกัมพูชาเป็นประเทศที่มีการแข่งขันค่อนข้างเสรี ไม่มีข้อจำกัด แฟรนไชส์ก็เข้ามาได้ง่ายแล้วก็ถ้าพูดถึงแฟรนไชส์ไทย หมวดอาหารและเครื่องดื่ม ผมอาจจะพูดถึง เอสแอนด์พี ทรูคอฟฟี่ อเมซอน อินทนิล แบล็คแคนยอน เราก็ต้องไปแข่งกับแฟรนไชส์ ที่เป็นหมวดใกล้ๆ กัน แต่เป็นของต่างชาติเช่น โคอิเตะชานมไข่มุก ท่านก็น่าจะรู้จักกัน KFC , Starbucks, Tiger brown , Domino Pizza แต่มีข้อที่ต้องพิจารณาก็คือ ช่วงที่มีแฟรนไชส์เข้ามาเยอะพอเกิดสถานการณ์โควิดระบาด ก็จะเห็นว่าร้านต่างๆ ก็มีมากที่ปิดตัวไป และร้านต่างๆ ก็จะต้องปรับตัวเป็นการส่งเดลิเวอรี่มากขึ้น
“ผมดึงตัวเลขมาว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวหรือตัวเลขที่คนเดินทางมากัมพูชาในปีที่ผ่านมาลดลงไปกว่าปีก่อนหน้า 80 % มีผู้เดินทางเข้ามาผ่านสนามบินประมาณ 10 ล้านคน ในปีที่ผ่านมา ฉะนั้นเรียนว่า มันมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงมาก เราก็ต้องพึ่งพากับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาด้วยว่าเขาจะคุ้นกับแบรนด์ไทยมากน้อยแค่ไหน เช่น คนไทยมาเที่ยวหรือคนต่างชาติมาเที่ยวเขาเห็นแบรนด์เขาก็จะดูว่าแบรนด์ไหนมีความน่าเชื่อถือมากกว่า ที่จะไปซื้ออาหารหรืออะไรที่รู้จักมากิน” คุณชูพล กล่าว
ดังนั้น คุณชูพลมองว่า แฟรนไชส์ไทยยังเข้ามาได้อีกเรื่อยๆ แต่ต้องเป็นแบรนด์ใหญ่ ส่วนแบรนด์ขนาดกลาง และเล็ก ต้องเจาะลูกค้าเป้าหมายให้ให้ดี
“ผมขอไฮไลท์เรื่องแฟรนไชส์นิดนึง แฟรนไชส์ที่เกี่ยวกับเรื่องของการศึกษา พวกติวเตอร์คณิตศาสตร์ น่าจะดี เพราะกระทรวงการศึกษาของกัมพูชาเขาให้นักเรียนระดับประถมมัธยม เรียนกันแค่ครึ่งวัน อีกครึ่งวันเขาสามารถที่จะไปศึกษาวิชาอื่นๆ และเพิ่มสกิลอื่นๆได้ ตรงนี้ถือว่าเป็นช่องทางที่มีโอกาส และอีกอันนึงคือแฟรนไชส์ที่เกี่ยวกับเรื่องของการซ่อมบำรุงรถ เพราะว่ากว่า 60-70 % ก็ยังเป็นรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปี เป็นรถมือสอง คนที่ใช้รถก็อาจจะหาร้านซ่อมร้านบำรุงรักษารถที่มีความน่าเชื่อถือเพื่อซ่อมบำรุงตามระยะเวลาอะไรต่างๆ ยกตัวอย่าง B Quik พึ่งเข้ามาเปิดอยู่ในห้างระหว่างรอบำรุงรถอะไรต่างๆก็เดินห้างอะไรอย่างนี้” คุณชูพล แนะนำ
คุณชูพล กล่าวทิ้งท้ายฝากถึงผู้ประกอบการที่สนใจขยายการค้าและการลงทุนไปในกัมพูชาว่า สำนักงานผู้แทนของ EXIM Bank ที่กัมพูชา เปิดมาได้ประมาณ 2 ปีกว่า ทำเรื่องของสินเชื่อและเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการได้รับประกัน เผื่อว่าท่านมีผู้ซื้อที่อาจจะยังไม่คุ้นเคยอยากจะลองสั่งออเดอร์ เราก็จะมีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในฐานะที่อยู่ในพื้นที่ก็จะมีประสบการณ์และมีความรู้ที่อาจจะนอกเหนือจากตัวตำรา มาแชร์ให้กับท่านที่สนใจ รวมถึงอาจจะมองหาผู้ซื้อที่อาจจะแมชซิ่งกับทางผู้ค้าได้ก็ยินดี พร้อมเปิดรับให้บริการทุกท่าน แต่ต้องเรียนก่อนว่าเราเป็นตัวแทน จะไม่มีเรื่องเกี่ยวกับธุรกรรม หรือการทำธุรกรรมทางการเงิน บัญชีโอนเงินเราไม่มี เราจะให้บริการในเรื่องของการให้คำปรึกษาประมาณนี้ครับ
รับชมวีดีโอ คลิก https://www.youtube.com/watch?v=9rOf2i_7l7A
-
Exporter World Talk EP:24 ‘ธุรกิจดี เมื่อมีที่ปรึกษา’
วันที่ 10 สิงหาคม 2564 Exporter World Talk EP:24 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า เชิญ คุณสมพัฒน์ สธนวรรธน์ ผู้บริหาร บริษัท โอมมี่ เยลลี่ จำกัด มาสนทนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในเรื่อง “ธุรกิจดี เมื่อมีที่...
29.11.2021
-
Exporter World Talk EP:25 ‘ขายดีแบบ E-Commerce’
วันที่ 24 สิงหาคม 2564 Exporter World Talk EP: 22 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า เชิญ คุณธรรมนาถ ตันติศิริวิทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คิงปิงกรุ๊ป จำกัด มาสนทนาในหัวข้อ "ขายดีแบบ E-Commerce " แนะนำเทคนิคการ...
29.11.2021
-
Exporter World Talk EP:22 ‘พามือใหม่ ไปหาตลาดต่างประเทศ’
วันที่ 6 กรกรฎาคม 2564 Exporter World Talk EP: 22 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า เชิญ คุณพรรณี ชิตรัตฐา กรรมการผู้จัดการ บริษัทคัพเวอร์ เอิร์ท จำกัด มาสนทนาในหัวข้อ "พามือใหม่ ไปหาตลาดต่างประเทศ" ฟังประสบการณ์ตรงจากผู้ส่งอ...
29.11.2021