Exporter World Talk

วันที่ 29 มกราคม 2564
Exporter World Talk EP:2 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า เชิญคุณมณฑล ปริวัฒน์ หรือ คุณก็อต นายกสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ มาคุยกันเรื่อง “ผลไม้ไทย ปลอดภัยจากโควิด?” เป็นการอัปเดตสถานการณ์การส่งออกผักและผลไม้ไทยว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในปี 2564 อย่างไร หลังจากมีข่าวลือผลไม้ไทยมีการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19
“ผมบอกได้เลยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงขณะนี้แทบจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ไทยเลย” นายกสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ คุณมณฑล ปริวัฒน์ กล่าว
คุณก็อตให้เหตุผลว่า ที่การส่งออกผลไม้ไม่ได้รับผลกระทบมาก เป็นผลมาจากในปี 2563 ช่วงต้นปีที่โควิคระบาดที่เมืองอู่ฮั่น หลายคนกังวลมากว่าทุเรียนจะส่งออกไม่ได้ เพราะเข้าช่วงที่ผลผลิตทุเรียนจะออกสู่ตลาดพอดี แต่จีนสามารถแก้ไขปัญหาได้เร็ว ทางสมาคมฯได้หารือกัน นั่งวิเคราะห์กันว่าหากจีนแก้ไขปัญหาได้เร็ว เราจะต้องขับเคลื่อนอะไรให้เกิดความมั่นใจของคนไทยกันเองก่อน และทำให้คนที่จะนำสินค้าเราไปขายต้องมั่นใจว่าเราควบคุมมาตรฐานและคุณภาพสินค้าได้ดี ซึ่งเราไม่สามารถทำเรื่องนี้คนเดียวได้เพราะเป็นปัญหาระดับโลก จึงได้ร่วมมือในระดับสมาคมฯ จึงระดมเงินระดมซื้อแอลกอฮอล์ และ น้ำยาฆ่าเชื้อ เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย แจกจ่ายให้กับผู้ประกอบการทั้งหมด นอกจากนี้ต้องบริหารจัดการโดยที่เราเข้าไปพ่นยาฆ่าเชื้อที่โรงงาน ทุกโรงงานเลยก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตและบรรจุสินค้า
“เราทำเรื่องเหล่านี้ออกไปก่อนและสื่อสารกับคู่ค้าของเราว่า เรามีมาตรฐานจัดการอย่างไร เมื่อผู้ค้ามั่นใจกล้าสัมผัสสินค้าของเรา ก็จะไปบอกต่อว่าของเราปลอดภัย ที่สำคัญเราสื่อสารกับคนที่เป็นพาร์ทเนอร์ของเราได้ดี เขาก็จะไปสื่อสารต่อกับพาร์ทเนอร์ของเขาอีกที ตรงนี้เป็นจุดแข็งที่ทำให้เราผ่านปัญหามาได้” คุณก็อต กล่าว
ดังนั้น ปีนี้คนไทยก็จะรับประทานผลไม้แพง ได้คิดว่าโควิดระบาดจะทำให้ราคาผลไม้ไทยตกต่ำ ผมพยายามจะไดฟ์ธุรกิจนี้ให้คนทำธุรกิจโฟกัสเรื่องของคุณภาพก่อนราคา เพราะว่าถ้าวันนี้เราโฟกัสเรื่องราคาสิ่งที่คุณจะเจอเราจะเจอผลไม้ที่ไม่มีคุณภาพออกสู่ตลาดเนื่อง เพราะทุกคนอยากขายราคาแพงในต้นฤดูตัดผลไม้อ่อนมาขายยิ่งถ้าเป็นชาวสวนเห็นราคาแพงแล้วรีบขายขาย ทั้งที่มันอาจจะต้องรออีก 10 วันเพื่อให้มันได้คุณภาพถึงจุดที่ดีที่สุด
“ผลไม้ไทยมีราคาดี คนที่ได้รับผลประโยชน์เต็มเต็มก็คือชาวสวน ถ้าเราสามารถส่งออกได้ราคาแพงผู้บริโภคต่างประเทศยอมรับได้ มันก็โอเค แต่สิ่งที่มันจะไม่โอเคคือถ้าราคาแพงและคุณภาพไม่ได้สุดท้ายราคาของเราก็ตกลงมาเอง ผมเชื่อว่าถ้าเราควบคุมมาตรฐานสินค้าได้ เราก็จะไปแย่งมาร์เก็ตแชร์ของผลไม้ต่างประเทศ เช่น เชอรี่ องุ่น แอปเปิ้ล หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เป็นคู่แข่งของผลไม้ไทย ทางภาครัฐเองต้องส่งเสริม ยกมาตรฐานการผลิตให้เป็นอาหารปลอดภัยเป็นออแกนิกส์ ไม่ใช้สารเคมี และเป็นสินค้า GI ก็จะทำให้ผลไม้ไทยมีมูลค่าสูงขึ้น” คุณ ก็อต กล่าว
คุณก็อต กล่าวว่า ปัญหาทุกอย่างต้องมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง แม้จะอยู่ในสถานการณ์ธุรกิจก็ต้องปรับ การแพร่ระบาดของโควิดเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นเท่านั้นเอง ผมยกตัวอย่างง่ายง่ายว่า ถ้าสมมติคุณกำลังขายข้าวกะเพราหมู แล้ววันนี้คุณยังคงขายมันแบบเดิมๆ คุณไม่ปรับคุณก็อยู่ไม่ได้ ในวันที่โลกมันเปลี่ยนตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ธุรกิจผลไม้ส่งออก แต่มันกระทบหมดทุกธุรกิจ
ย้อนเวลากลับไปที่คุณมลฑล หรือ คุณก็อต อดีตดัชชี่บอย ผู้ผันตัวเองมาเป็นผู้ส่งออกผลไม้ เนื่องจากครอบครัวอยู่ในจังหวัดจันทบุรี อาชีพดังเดิมของครอบครัวคือทำโรงงานพลอย จนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เจอพิษเศรษฐกิจจึงเปลี่ยนอาชีพ และสุดท้ายครอบครัวของเขาก็หันมาค้าขายผลไม้จนพัฒนาขึ้นมาเป็นผู้ส่งออก
ในขณะที่ครอบครัวทำธุรกิจค้าผลไม้ คุณก๊อตกำลังเรียนอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัน ศรีราชา เมื่อกลับไปบ้านตอนปิดเทอมก็จะเห็นคุณพ่อคุณแม่ทำงานหนักมาก และเมื่อไปเรียนต่อปริญญาโทที่ม.เกษตรศาสตร์ และทำงานในวงการบันเทิงและทำงานออฟฟิส ส่วนหนึ่งคิดว่าไปเรียนและกลับมาช่วยครอบครัวได้ เมื่อกลับมาที่บ้านพบว่าพ่อแม่เริ่มสูงวัยจึงเริ่มคุยกับครอบครัวและเห็นแม่นอนวันละ 3 ชั่วโมง จึงเริ่มคิดว่าจะทำยังไงให้คุณแม่นอนให้ได้วันละ 8 ชั่วโมง จึงหยุดทำงานในวงการบันเทิงและกลับมาช่วยทำงานที่บ้าน
“ผมเริ่มงานใหม่ ด้วยการเอารถกระบะคันนึงออกไปกับลูกน้องสองคน ออกไปหาซื้อของเอง ลงพื้นที่ไปลุยไปนั่งคัดของ เลือกของเอง ซื้อมาขายส่งให้คุณแม่ แต่ก็คิดว่ายังช้าอยู่ จึงได้ถามคุณแม่ตรงๆว่า วงการนี้ยังมีใครเป็นอันดับ1 ขอให้คุณแม่พาไปกินข้าวด้วย คุยไปคุยมา เขาก็ชวนเราไปทำงานเราก็ได้โอกาสเลยได้ไปทำสวนลำไยสวนสับปะรดไปเชียงใหม่ ไปตากใบ ไปดูมังคุดที่ภาคใต้ ไปทั่วประเทศ เมื่อแต่งงานก็โดนส่งไปอยู่ประเทศจีน บังเอิญบ้านของภรรยาก็ทำสวนผลไม้เช่นกัน จึงช่วยกันเอาของที่บ้านไปขาย และสร้างแบรนด์ของตัวเอง” คุณก็อต กล่าว
ปัจจุบันคุณก๊อตส่งผลไม้ไทยออกไปขายที่ จีน เกาหลี ไต้หวัน ยุโรป ซึ่งตลาดแต่ละแห่งมีความแตกต่างที่ต้องเรียนรู้ ทั้ง Product และรสนิยมของผู้บริโภค เขากล่าวว่า จีนเป็นตลาดหลักที่มีการส่งออกไปถึง 80% ของการส่งออกทั้งหมดของบริษัท ส่วนยุโรป เกาหลี ญี่ปุ่น ถือเป็นตลาดรองที่กำลังพยามขยายให้เพิ่มขึ้น ซึ่งตลาดจีนแม้จะเป็นตลาดหลักแต่ก็มีการแยกย่อยออกไปมากเพราะแต่พื้นที่มีความแตกต่างทั้งภูมิอากาศและวัฒนธรรม ความต้องการผลไม้ก็ไม่เหมือนกัน โดยภาพรวมผลไม้ไทยที่ได้รับความนิยมสูงสุดยังคงเป็นทุเรียน อันดับสองคือ มังคุด อันดับสามสูสีกันคือ มะพร้าวอ่อนและขนุน
คุณก๊อต เล่าว่า จากการเดินทางไปดูตลาดทั่วประเทศจีน ก็พบว่าความนิยมผลไม้ไทยนั้นมาจากความเป็นเอกลักษณ์ทางด้านรสชาติที่อร่อย ไม่มีมะพร้าวชาติไหนอร่อยเท่ามะพร้าวไทย และขณะนี้ความนิยมบริโภคมะพร้าวเป็นกระแสเรื่องสุขภาพ คนจีนเค้าจัดให้มะพร้าวเป็นบิวตี้ดริ้ง ดื่มน้ำมะพร้าวแล้วผิวสวย มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร มีการให้ความรู้กันอย่างแพร่หลาย ทำให้มะพร้าวที่ส่งไปจีนขณะนี้มีดีไซน์หลายรูปแบบอำนวยความสะดวกแก่การรับประทาน
ประสบการณ์ด้านการส่งออก ที่อยากแลกเปลี่ยนคือ ธุรกิจส่งออกผลไม้นั้นจะต้องตัดสินใจให้เร็ว แม้ปัญหาจะเกิดขึ้นแต่ปัญหาจะวนเป็นวงกลมกลับมาเป็นปัญหาเดิมๆ คนอื่นอาจจะมองว่ายากเพราะคาดเดาไมได้ แต่หากมีปัญหาและรีบแก้ไขตั้งแต่เริ่มต้น การตัดสินใจต้องรวดเร็วและเด็ดขาด เรียนรู้จากความผิดพลาด ถ้าตัดสินใจแก้ไขช้า ปัญหาจะบานปลาย ยกตัวอย่างเช่น เราแพ็กทุเรียนหนึ่งตู้คอนเทนเนอร์ ตู้นี้เราซื้อมาในราคาที่แพง แต่อยู่ในระหว่างการขนส่ง ราคาตลาดตีกลับมาเป็นราคาที่ต่ำลง จากหลายปัจจัย เราต้องตัดสินใจทันทีว่าจะทำอย่างไรกับสินค้าล็อตนี้ ปล่อยไปวันเดียวหรือปล่อยไปแค่ 3 ชั่วโมงมันก็จะบานปลาย ถลำลึกไปเรื่อยๆ เช่นถ้าเราจะเปลี่ยนตลาดหรือยอมขายทิ้งเพื่อให้ขาดทุนน้อยที่สุด เช่น รีบประสานกับห้างหรือประสานกับลูกค้าบางคนเพื่อที่จะยอมขายขาดทุน 2-3 แสนบาท ดีกว่าไปตลาดแล้วเราจะขาดทุน 7- 8 แสนบาท
“การทำธุรกิจไม่มีสูตรสำเร็จ ในยุคนี้มีปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจหรืออะไร ตัวผมเองก็ไม่ได้ทำผลไม้ส่งออกเพียงอย่างเดียว ผมมักจะพูดในที่ประชุมคือการปรับตัวตลอดเวลา โลกมันอาจจะเปลี่ยนไปเร็ว เราอาจจะได้ยินคำว่าเทคโนโลยี ดิจิทัล จะมา Disrupt ธุรกิจเราผมเชื่อว่าผมไม่ได้มองแค่ธุรกิจการส่งออก แต่มันกระทบไปหมด เราก็คุยกับคนที่เกี่ยวข้องว่าแต่ละซัพพลายเชนที่กระทบ ลูกค้าและผู้บริโภคปรับตัวอย่างไร” คุณก๊อต กล่าว
ดังนั้นคุณก๊อตมองว่า ไม่เพียงแต่โควิด-19 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการส่งออก แต่มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราก็จะต้องปรับตัวตลอดเวลา “สำหรับผมก็ใช้วิธีการสร้างแรงบันดาลใจคิดว่าปัญหาเป็นเรื่องสนุก เหมือนเกม ทำให้เราเอนจอยที่จะทำงานทุกวัน ถามว่าการทำงานมันเครียดไหมมันเครียดอยู่แล้วแหละแต่ถ้าเราพยามมองมันให้สนุกมันก็จะรู้สึกไม่เหนื่อยรู้สึกไม่เครียดแล้วมันก็จะผ่านไปได้ในแต่ละวันผมว่าอันนี้น่าจะเป็นวิธีหลักของผมในการใช้ปฏิบัติในการทำงาน”
รับชมวีดีโอ คลิก https://www.youtube.com/watch?v=GLlQGwjqdrc
-
Exporter World Talk EP:24 ‘ธุรกิจดี เมื่อมีที่ปรึกษา’
วันที่ 10 สิงหาคม 2564 Exporter World Talk EP:24 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า เชิญ คุณสมพัฒน์ สธนวรรธน์ ผู้บริหาร บริษัท โอมมี่ เยลลี่ จำกัด มาสนทนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในเรื่อง “ธุรกิจดี เมื่อมีที่...
29.11.2021
-
Exporter World Talk EP:25 ‘ขายดีแบบ E-Commerce’
วันที่ 24 สิงหาคม 2564 Exporter World Talk EP: 22 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า เชิญ คุณธรรมนาถ ตันติศิริวิทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คิงปิงกรุ๊ป จำกัด มาสนทนาในหัวข้อ "ขายดีแบบ E-Commerce " แนะนำเทคนิคการ...
29.11.2021
-
Exporter World Talk EP:22 ‘พามือใหม่ ไปหาตลาดต่างประเทศ’
วันที่ 6 กรกรฎาคม 2564 Exporter World Talk EP: 22 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า เชิญ คุณพรรณี ชิตรัตฐา กรรมการผู้จัดการ บริษัทคัพเวอร์ เอิร์ท จำกัด มาสนทนาในหัวข้อ "พามือใหม่ ไปหาตลาดต่างประเทศ" ฟังประสบการณ์ตรงจากผู้ส่งอ...
29.11.2021