Exporter World Talk

วันที่ 27 มกราคม 2564
Exporter World Talk EP:1 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า ได้เชิญคุณ สมโภชน์ โมกมี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม ฟาสเทนเนอร์ จำกัด มาคุยเรื่อง “โควิด พ่นพิษค้าชายแดน” เป็นการอัปเดตสถานการณ์การค้าชายแดนว่าได้รับผลกระทบอย่างไร จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 รอบใหม่ในปี 2564
คุณสมโภชน์ เล่าให้ฟังว่า ธุรกิจของบริษัทนั้นเป็นผู้ผลิต สกรู น๊อต โบลท์ สลัก ฯลฯ เป็นสินค้าที่นำไปใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าอื่นๆ เช่น เป็นอุปกรณ์ครบชุดเพื่อผลิตไฟฟ้า แอร์คอนดิชั่น ในกลุ่มรถยนต์ จักรยานยนต์มอเตอร์ไซค์ เป็นต้น ซึ่งมีลูกค้าภายในและต่างประเทศ
สำหรับการส่งออกของ บริษัท สยาม ฟาสเทนเนอร์ มีสองแบบคือ เป็นการส่งออกโดยตรง และเป็นซัพพอร์ตเตอร์ให้กับลูกค้านำไปประกอบเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป
ทั้งนี้ การส่งออกโดยตรงเป็นการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านคือ สปป.ลาว กัมพูชา และ เมียนมา ซึ่งกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้มีศักยภาพ มีการพัฒนา มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสูง ส่วนที่เป็นซัพพอร์ตเตอร์นั้น มีการส่งออกชิ้นส่วนไปหลายประเทศให้กับลูกค้าที่นำสินค้าของบริษัทไปประกอบเป็น Product สำเร็จรูปจำหน่าย
“การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจมีตลอดเวลา อยากแชร์ให้ผู้ประกอบการส่งออกฟังว่า การทำธุรกิจต้องมีอุปสรรค แต่ประเทศก็มีปัญหาและความยากง่ายต่างกัน ก่อนโควิดระบาด บริษัทก็ประสบปัญหาโดนมหาอำนาจทางการค้าอย่างจีนแย่งตลาด กัมพูชา กับ สปป.ลาวเกลี้ยงเลย โดยเขาส่งสินค้ามาขายตามเส้นทางรถไฟที่เขาวางไว้ยอดขายเราลดลงเรื่อยๆ “ คุณสมโภชน์ กล่าว
เมื่อถึงจุดแห่งการเปลี่ยนแปลง คุณสมโภชน์เองก็เริ่มหันกลับมาประเมินสถานการณ์ใหม่ว่า ตลาดในประเทศไหนแน่ที่มีโอกาสหลงเหลืออยู่ ก็พบว่า ตลาดเมียนมายังเป็นตลาดที่จีนเอื้อมมือไปไม่ถึง เป้าหมายการขยายตลาดใหม่จึงปักหมุดที่จีน
“ถามว่าทำไมต้องเป็นเมียนมา คำตอบคือ เส้นทางคมนาคมจากจีนไปเมียนมาไม่ง่ายเหมือนมาจากลาว การขนถ่ายสินค้ามีอุปสรรคกว่าจะเข้ามาถึงย่างกุ้งซึ่งเป็นศูนย์กลางของธุรกิจได้ ประกอบกับนโยบายการค้าของเมียนมาเริ่มเปิด เราจึงเห็นโอกาสใหม่ในการส่งออก แต่ก็ไม่ง่าย” คุณสมโภชน์ กล่าว
คุณสมโภชน์ เล่าว่า ได้เข้าไปเปิดตลาดเมียนมาเมื่อ 8 ปีที่แล้ว มันยากกว่าตอนนี้มาก การเดินทาง การเจรจายาก แต่เมื่อรัฐบาลมีเป้าหมายการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ก็มีการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศใกล้เคียง ตอนนั้นมีภาครัฐหลายหน่วยงานเป็นหัวหน้าคณะมานำเราไป ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารต่างๆ เราก็ได้ความรู้ด้านต่างๆมาประกอบการตัดสินใจ
วิธีการทำตลาดเมียนมาไม่ง่าย ที่กลัวกันมากที่สุดคือการโกง เค้ากลัวเราโกง เราก็กลัวเค้าโกง เรากลัวส่งของไปไม่ได้เงิน ต่างคนต่างกลัว เป็นอุปสรรคการค้าซึ่งกันและกันจะทำลายล้างตรงนี้ได้ต้องไปพบปะไปเจรจาไปหารือกันบ่อยๆให้เกิดความคุ้นเคย
วันนี้เส้นทางขนถ่ายสินค้ามันมีหลายทาง แต่เราเป็นประเทศที่มีชายแดนติดกัน การขนถ่ายสินค้าทางบกเป็นทางที่สะดวกและมีค่าใช้จ่ายถูกที่สุด
“ตอนเข้าไปใหม่ๆ ก็แปลกใจนิดนึง โดยส่วนใหญ่ผู้ใช้หรือผู้ซื้อที่เมียนมา เขาจะมีออฟฟิศอยู่ที่แม่สอด ขนส่งถ่ายสินค้าของเขาเอง เรารับผิดชอบขนส่งหน้าโรงงานของเราไปถึงที่แม่สอด จากแม่สอดไปถึงเมียนมาลูกค้าของเราจะรับผิดชอบนำสินค้าข้ามไป เรื่องภาษีหรือติดขัดอย่างไร ลูกค้าจัดการเอง ซื้อขายก็เป็นเงินบาท ทางผู้ซื้อก็จะมีการแลกเปลี่ยนเงินมาเรียบร้อยไม่ต้องรับเงินจ๊าด ลูกค้าจ่ายเราเป็นบาท การส่งมอบและชำระเงินจบที่แม่สอด ดังนั้นจะเห็นว่าทำไมจีดีพีหรือมูลค่าการค้าของแม่สอดจึงสูงกว่าของจังหวัด” คุณสมโภชน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี แม้เราจะไม่ได้ข้ามไปก็ต้องรู้ว่าลักษณะการขนส่งเป็นอย่างไร การส่งสินค้าเมื่อออกจากแม่สอดแล้วก็จะไปผ่านที่เมียวดีก่อนจะไปถึงย่างกุ้ง ระหว่างทางจะมีการขนถ่ายสินค้าจากรถบรรทุก ไปเป็นรถปิคอัพ เป็นต้น ซึ่งเขาจะยกกล่องโยนไปมา แรกๆที่ส่งสินค้าไปเราบรรจุใส่ลังกระดาษ แต่โยนไปโยนมาลังแตกสินค้าไหลออกมา บางทีก็หาย เมื่อเรารู้ต่อมาเราก็เปลี่ยนแพกเกจใหม่ หุ้มอีกชั้นหนึ่ง นอกจากกันความชื้นและก็ช่วยกันของหล่นหายไปในตัว
สำหรับ ผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด 19 ต้องแบ่งเป็นสองรอบคือ การระบาดในรอบแรกปี 2563 แรงกว่ารอบใหม่มาก เพราะครั้งแรกคู่ค้าปิดประเทศทำให้โรงงานที่ซื้อของจากเราปิดโรงงาน ไม่มีการผลิต แต่เนื่องจากเราเป็นประเทศที่จัดการควบคุมโรคระบาดได้ดี จึงได้โรงงานที่ต้องการชิ้นส่วนสินค้าวิ่งมาหาเรา เพราะมั่นใจว่าเราจะมีสินค้าส่งให้ต่อเนื่อง ทำให้ยอดการส่งออกส่วนที่เป็นการซัพพอร์ตสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีปัญหาอื่นมาแทรกแซงเช่นเรื่องของตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น
คุณสมโภชน์ กล่าวว่า สถานการณ์ในขณะนี้ ทำให้การเดินทางภายในประเทศเมียนมาไม่สะดวก อาจจะทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในประเทศไทยเพราะคนงานข้ามไปมาไม่ได้ ส่วนสินค้าที่ได้รับผลกระทบ ต้องมองว่าเป็นลูกค้ากลุ่มไหน ก็มีบ้างที่ขนส่งลำบากขึ้น ขอยกตัวอย่างผมมีลูกค้ารายหนึ่งที่ผลิตหม้อแปลงไฟขนาดใหญ่ยอดเขาไม่ตกเลย ลูกค้าก็เร่งสั่งมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจีน ทั้งอินเดีย ทำให้เขายังสั่งสินค้าจากเรา สั่งมาเท่าไหร่เราส่งได้ตามเวลา
สิ่งที่อยากจะฝากผู้ประกอบการมี 3 เรื่องคือ หนึ่ง ผู้ที่ส่งออกอยู่แล้ว ขอให้รักษามาตรฐานสินค้าให้มีคุณภาพ เขาซื้อเราไม่ใช่เราถูกกว่า แต่เขารู้ว่าสินค้าเราดีกว่า ถ้าคุณภาพเราตกก็เท่ากับตกเกรด เรื่องของมาตรฐานการส่งมอบ นัดส่งมอบเมื่อไหร่ต้องส่งมอบตามเวลา อย่าผิดข้อตกลง
เรื่องที่สอง สำหรับคนที่ยังไม่เคยส่งออกเลย คุณสมโภชน์แนะนำว่า ขณะนี้คงจะเดินทางไปเจอลูกค้า ไปออกบูทได้ยาก จะต้องใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วย ทำให้ลูกค้าได้รู้จักสินค้าของเราก่อน และเมื่อสถานการณ์ปกติแล้ว จึงเดินทางไปพบลูกค้า หรือเข้าไปทำตลาดในเชิงลึกอีกทีหนึ่ง
เรื่องที่สาม เป็นเรื่องของการเงิน เมื่อค้าขายกันมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว รู้จักกันและมีความไว้เนื้อเชื่อใจ ต้องรู้จักเห็นใจซึ่งกันและกัน จากที่ค้าขายเป็นเงินสดมาตลอด แต่เมื่อสถานการณ์มีปัญหาอาจจะให้เครดิตเทอมบ้าง เช่นส่งสินค้าไปก่อน 30 วันเก็บเงิน เราก็ไปดูลูกค้ามาแล้วว่าใหญ่โตขนาดไหน มีความน่าเชื่อถือขนาดไหน เราก็ต้องเห็นใจคู่ค้าด้วย ในสถานการณ์แบบนี้ก็ลำบากทั้งนั้น
รับชมวีดีโอคลิก https://www.youtube.com/watch?v=HaQh7cvyd_I
-
Exporter World Talk EP:24 ‘ธุรกิจดี เมื่อมีที่ปรึกษา’
วันที่ 10 สิงหาคม 2564 Exporter World Talk EP:24 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า เชิญ คุณสมพัฒน์ สธนวรรธน์ ผู้บริหาร บริษัท โอมมี่ เยลลี่ จำกัด มาสนทนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในเรื่อง “ธุรกิจดี เมื่อมีที่...
29.11.2021
-
Exporter World Talk EP:25 ‘ขายดีแบบ E-Commerce’
วันที่ 24 สิงหาคม 2564 Exporter World Talk EP: 22 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า เชิญ คุณธรรมนาถ ตันติศิริวิทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คิงปิงกรุ๊ป จำกัด มาสนทนาในหัวข้อ "ขายดีแบบ E-Commerce " แนะนำเทคนิคการ...
29.11.2021
-
Exporter World Talk EP:22 ‘พามือใหม่ ไปหาตลาดต่างประเทศ’
วันที่ 6 กรกรฎาคม 2564 Exporter World Talk EP: 22 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า เชิญ คุณพรรณี ชิตรัตฐา กรรมการผู้จัดการ บริษัทคัพเวอร์ เอิร์ท จำกัด มาสนทนาในหัวข้อ "พามือใหม่ ไปหาตลาดต่างประเทศ" ฟังประสบการณ์ตรงจากผู้ส่งอ...
29.11.2021