การเงิน - บริหารจัดการ

ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 ยังคงกระจายอยู่ในหลายประเทศ และยังไม่มีวี่แววว่าจะสงบลงเมื่อใด เราก็เริ่มได้ข่าวการหดตัวของกิจการใหญ่ชื่อดังหลายราย ที่เริ่มจากการลดสาขา ลดกำลังการผลิต หรือหยุดการผลิตชั่วคราว เลิกจ้างแรงงาน หลังจากรัดเข็มขัดสู้ภัยโควิด-19 อย่างเต็มที่แล้ว หากยังขาดทุนไม่หยุด เพราะขายสินค้าไม่ได้ ขั้นตอนต่อไปคือการเลิกกิจการ บางรายอาจยื่นขอล้มละลาย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
ธุรกิจระดับโลกหลายราย อาทิ พิชซ่าฮัท รถเช่า Hertz บริษัทค้าปลีกเสื้อผ้าชื่อดังของสหรัฐฯ J. Crew รวมไปถึงในประเทศไทยอย่าง การบินไทย ก็เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการด้วยเช่นกัน เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จนไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ในสภาวะหนี้สินที่เป็นอยู่ จำเป็นต้องจัดการทรัพย์สิน หรือปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้ทั้งหมด
เรื่องนี้อาจจะดูไม่เกี่ยวข้องกับผู้ส่งออก แต่ในความจริงแล้ว เราก็ควรจะต้องติดตามข่าวสารเหมือนกัน เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่บริษัทเดียวอาจจะมีคู่ค้า ทั้งที่เป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้จำนวนมาก สำหรับผู้ประกอบการส่งออกบางรายก็อาจได้รับผลกระทบร้ายแรงในฐานะเจ้าหนี้การค้าในบริษัทที่ยื่นล้มละลายด้วย
หากเราเทียบเคียงกับการยื่นขอล้มละลายต่อศาลล้มละลายในประเทศไทย จะมีหลักการสากล คือ กฎหมายล้มละลายนั้น มีเรื่องของการถูกฟ้องล้มละลาย เนื่องจากธุรกิจไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หรือแม้จะดำเนินธุรกิจต่อไปก็ไม่มีความสามารถที่จะชำระคืนหนี้เจ้าหนี้ได้ มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทรัพย์สินที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ กับ เรื่องของการยื่นฟื้นฟูกิจการ เป็นการขออำนาจศาลเพื่อคุ้มครองให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไป (Automatic Stay) และทำแผนการจัดการ (Rehabilitation Plan) เพื่อให้สามารถชำระคืนหนี้ให้เจ้าหนี้ทั้งหมด โดยขอความยินยอมจากเจ้าหนี้เสียงส่วนใหญ่ และศาลเห็นชอบ
เมื่อเราเทียบกับการล้มละลายของสหรัฐอเมริกา นั้นจะมีความคล้ายคลึงกัน คือ ศาลล้มละลายเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถประกาศล้มละลายได้ 2 แบบ คือ
การล้มละลายตาม Chapter 7 : เป็นการปลดหนี้ มี Trustee เปนผู้บริหารธุรกิจ และมีการตั้งองคกร (estate) เพื่อเป็นนิติบุคคลชั่วคราว เพื่อนำเงินได้จากการขายทรัพย์สินทั้งหมดมาเฉลี่ยให้เจ้าหนี้ ซึ่งแน่นอนว่าสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกันก็ต้องขายแล้วชำระให้เจ้าหนี้ที่มีหลักประกันจนครบก่อน ส่วนสินทรัพย์อื่นๆ เช่น สินค้าคงคลัง ก็ขายทอดตลาด นำเงินมาแบ่งเจ้าหนี้ทั้งหลาย โอกาสได้รับชำระคืนจึงต่ำมาก
การล้มละลายแบบ Chapter 11 : เป็นการขอฟื้นฟูกิจการ โดยการขออำนาจศาลคุ้มครองให้อยู่ในสถานะไม่ให้เจ้าหนี้มาฟ้อง ยึดทรัพย์ หรืออื่นใด ให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ และทำแผนฟื้นฟูกิจการเสนอให้เจ้าหนี้พิจารณา
สำหรับเจ้าหนี้การค้าอย่างเรา ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องจัดเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ผู้ซื้อคงไม่ได้เอาหลักทรัพย์ มาจำนอง จำนำ เป็นประกันไว้ สิ่งที่หวังจะได้รับก็เพียงส่วนที่เหลือจากการจัดสรรชำระให้เจ้าหนี้มีประกันก่อน และที่เหลือก็ชำระให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันตามแผนฟื้นฟูกิจการ อันนี้ก็ยกเว้นกรณีที่ผู้ส่งออกทำประกันการส่งออกกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ก็สามารถเคลมเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจาก ธสน. และ ธสน. ก็สวมสิทธิไปดำเนินการตามขั้นตอนเอง
สำหรับผู้ส่งออกที่โชคร้ายไม่ได้ทำประกันการส่งออก ก็ต้องดำเนินการยื่นขอรับชำระหนี้ ซึ่งโดยปกติทางบริษัทผู้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการจะแจ้งมายังเจ้าหนี้ทุกรายให้ยื่นขอรับชำระหนี้ (แต่ที่พบในคดีของไทย เจ้าหน้าที่บัญชีบริษัท ลืมเจ้าหนี้การค้าบางราย มายื่นขอรับชำระหนี้ไม่ทันกำหนด ถูกตัดสิทธิไป ก็มีมาแล้ว) เมื่อได้หนังสือแจ้งก็ต้องดำเนินการยื่นขอรับชำระหนี้ โดยสามารถดำเนินการเอง หรือ จ้างทนายดำเนินการ ซึ่งต้องเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน เนื่องจากอาจจะโดนโต้แจ้งจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ตัวบริษัทผู้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการเอง เจ้าหนี้อื่น หรือ เจ้าพนักงานในคดี ที่พบตัวอย่างในไทย เช่น ไม่มีเอกสารที่ลงลายมือชื่อผู้ซื้อ ไม่มีหลักฐานการส่งมอบสินค้า ลูกหนี้อ้างว่าชำระค่าสินค้าไปแล้ว เจ้าหนี้อื่นแย้งว่าเอกสารการค้าหมดอายุความ เป็นต้น
ในกรณีของการยื่นขอรับชำระหนี้เอง ต้องกรอกแบบฟอร์ม Proof of Claim ซึ่งลูกหนี้จะจัดส่งมาให้เจ้าหนี้ แต่ถ้าไม่ได้รับแบบฟอร์ม เราในฐานะเจ้าหนี้ สามารถดาว์นโหลด ได้จากเว็บไซต์ของ ศาลล้มละลาย https://www.uscourts.gov/services-forms/forms เพื่อให้ศาลรับทราบการเป็นเจ้าหนี้ ซึ่งถ้าไม่ยื่นขอรับชำระหนี้ หรือ ยื่นไม่ทันกำหนด จะไม่ได้สิทธิรับชำระหนี้เลย
จากข้อมูลของ สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ ชิคาโก้ ให้คำแนะนำไว้ว่า เจ้าหนี้ส่วนใหญ่จะใช้ทนายความเป็นผู้ดำเนินการยื่นขอรับชำระหนี้และดำเนินการอื่นๆ เนื่องจากการดำเนินการมีรายละเอียดปลีกย่อยทางกฎหมาย ซึ่งเจ้าหนี้ส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจ โดยเฉพาะเจ้าหนี้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกสหรัฐฯ ควรใช้ทนายความในการดำเนินการ เพื่อความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร และประสานงานกับศาลล้มละลาย โดยค่าธรรมเนียมในการให้บริการของทนายความแตกต่างไปตามวงเงินหนี้สิน ทนายความบางสำนักงานเรียกค่าบริการเป็นสัดส่วนของเงินที่ได้รับคืน เช่น หักค่าบริการ 30-35% หรือ บางสำนักงานเรียกเก็บเป็นอัตราคงที่ Flat Rate ผันแปรไปตามความยากง่ายของคดี โดยค่าจ้างทนายความขั้นต่ำในการดำเนินการยื่นขอรับชำระหนี้จะประมาณ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่รวมค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายอื่นๆ (เป็นข้อมูลเดิมที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว)
โดยขอให้ทำใจไว้ด้วยนะครับว่า การได้รับชำระหนี้จากการฟื้นฟูกิจการนั้น เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจ้าหนี้ไม่มีประกันจะได้รับชำระหนี้บางส่วน ไม่เต็มจำนวน ทั้งนี้ขึ้นกันสัดส่วนการขอลดภาระหนี้ (Hair Cut) ของลูกหนี้ เช่น ตามแผนฟื้นฟูทยอยผ่อนชำระคืน หรือชำระทันทีในสัดส่วนร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือร้อยละ 70 ก็จะต้องยกหนี้ตัดสูญไป โดยกระบวนการฟื้นฟูกิจการอาจจะต้องใช้เวลานาน อยู่ในช่วงระยะเวลาประมาณ 5 – 20 เดือน ดังนั้นหนี้จากลูกหนี้รายนี้ การได้รับคืนตามแผนต้องรอ ศาลเห็นชอบด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการที่เจ้าหนี้ลงมติเห็นชอบแผนแล้ว
มีคำแนะนำสำหรับผู้ส่งออก เพื่อลดความเสี่ยง อันเนื่องมาจากผู้นำเข้าไม่ได้เปิดเผยตัวเลขฐานะทางการเงินให้เห็นเป็นข้อมูลที่คนได้ทั่วไป ทำให้ผู้ส่งออกไม่ทราบฐานะทางการเงิน และแนวโน้มปัญหาทางการเงินของผู้ซื้อ การทราบฐานะทางการเงินและประวัติข้อมูลเครดิต อาจจะช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากผู้นำเข้ากรณีการยื่นขอล้มละลายได้ ผู้ส่งออกสามารถขอใช้บริการประเมินความเสี่ยงผู้ซื้อหรือธนาคารผู้ซื้อในต่างประเทศ และเมื่อจะส่งออกก็สามารถใช้บริการประกันการส่งออก ผ่านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยได้
สนใจติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โทร 02271 3700 ต่อ 3530-1
Author : รัฐ ลิ่วนภโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
-
แต่งบัญชี หวังจะเลี่ยงภาษี
แต่งบัญชี หวังจะเลี่ยงภาษี ในอดีต เราคงจะเคยได้ยินเรื่องที่ผู้ประกอบการ มักจะทำบัญชีสองเล่ม โดยมีเหตุผลว่าเพื่อใช้สำหรับกู้เงินกับธนาคารและใช้สำหรับยื่นเสียภาษีเงินได้ บัญชีทั้ง 2 เล่มนี้ มีความแตกต่างกันในเรื่อง...
20.05.2020
-
5 วิธี พาธุรกิจฝ่าวิกฤตตามแนวคิด Lean Management
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังระส่ำระส่ายจากความท้าทายรอบด้าน ทุกธุรกิจต่างได้รับผลกระทบกันทุกหย่อมหญ้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทางรอดของผู้ประกอบการมีหลายทาง แต่วันนี้เราอยากชวนผู้ประกอบการมารู้จักกับแนวคิดการบริหา...
03.05.2020
-
คาถาพิชิตวิกฤต “ต้องสู้ จึงจะชนะ”
การทำธุรกิจส่งออก เปรียบเสมือนการโล้สำเภาในมหาสมุทร ยามที่คลื่นลมสงบ ทุกอย่างก็ราบรื่น แต่ในยามที่เจอพายุใหญ่ คลื่นลมถาโถม ไต้ก๋งจะต้องทำทุกอย่างเพื่อประคองให้เรือยังแล่นต่อไปจนถึงฝั่งให้ได้ แม้จะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ก็ตาม ...
27.04.2020