การเงิน - บริหารจัดการ

แต่งบัญชี หวังจะเลี่ยงภาษี

แต่งบัญชี หวังจะเลี่ยงภาษี 

ในอดีต เราคงจะเคยได้ยินเรื่องที่ผู้ประกอบการ มักจะทำบัญชีสองเล่ม โดยมีเหตุผลว่าเพื่อใช้สำหรับกู้เงินกับธนาคารและใช้สำหรับยื่นเสียภาษีเงินได้ บัญชีทั้ง 2 เล่มนี้ มีความแตกต่างกันในเรื่องของข้อเท็จจริง คือ บัญชีที่ไว้สำหรับกู้เงินธนาคารจะเป็นบัญชีที่สวยงาม คือบริษัทมีรายได้ดี มีกำไร มีสัดส่วนทางการเงินที่ดี เพื่อให้ธนาคารเจ้าหนี้พึงพอใจ และมีโอกาสที่จะได้รับการอนุมัติเงินกู้หากต้องการเงินทุนมาขยายกิจการได้ง่าย

ในทางกลับกัน บัญชีที่ใช้ยื่นเสียภาษีเงินได้กับกรมสรรพากรนั้น กลับมีเนื้อหาที่แตกต่าง บัญชีนี้จะทำให้ขาดทุน หรือกำไรต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อจะได้ถูกประเมินภาษีต่ำ หรือในกรณีขาดทุน กฏหมายภาษีอนุญาตให้ไม่ต้องเสียภาษีด้วย ดังนั้นจึงเป็นเหตุจูงใจให้มีการทำบัญชี 2 เล่ม ซึ่งผู้ประกอบการหารู้ไม่ว่านี่เป็นการกระทำที่ทำให้ตัวเองเสียประโยชน์ทำร้ายตัวเองในระยะยาว เป็นอุปสรรคใหญ่ขวางการเติบโตของธุรกิจได้เลยนะครับ

มีตัวอย่างของลูกค้าธนาคารครอบครัวหนึ่ง เขาทำธุรกิจซื้อมาขายไป พวกอุปกรณ์พลาสติกนานาชนิด ทั้งถุง เทป อุปกรณ์บรรจุภัณฑ์ นานาชนิด น่าอิจฉามาก จับอะไรก็ประสบความสำเร็จ ร่ำรวยรวดเร็ว จากบ้านทาวน์เฮาส์หลังเดียว ไม่พอเก็บของ ขยายเพิ่ม ซื้อห้องหลังติดกัน เรียกว่าเพื่อนบ้านคนไหนจะขายบ้านถามมาได้เลย ซื้อหมด แต่ปัญหาจากที่กำไรไม่ได้ลงในงบการเงิน อยู่เป็นเงินส่วนตัวเจ้าของ ก็ต้องซื้อทรัพย์สินในนาม เจ้าของ บางห้องก็ชื่อสามี บางห้องก็ชื่อภรรยา  แต่จำนองธนาคารเป็นประกันวงเงินสินเชื่อหมด ธุรกิจโตเร็ว ก็ต้องขอวงเงินเพิ่มตามกันมา  พอจะเปลี่ยนใจโอนทรัพย์สินไปในนามบริษัท ก็ต้องทำโอนขายให้บริษัท เป็นเรื่องใหญ่ มีค่าใช้จ่ายค่าโอน  จำนองใหม่ ทั้งหลักฐานการลงบัญชี ก็ลำบาก บริษัทไม่มีเงินมาซื้อจากเจ้าของ

พอกิจการขายดี ทางนักบัญชีก็เสนอแนะ ตั้งบริษัทใหม่เถอะพี่ แยกบางรายการออกจากกัน รายได้เยอะกลัวสรรพากรขอตรวจละเอียด (คนทำบัญชีก็ได้งาน 2 จ็อบรับ 2 ต่อ) เรื่องทรัพย์สินก็พันกันหนักเลย  แปลงห้องนี้จำนองวงเงินบริษัทแรก ห้องถัดมา จำนองบริษัทที่สอง ทำไปทำมา บางห้องกลายเป็นที่ดินตาบอด เพราะล้อมรั้วที่ดินของตัวเอง เจ้าของแต่ละแปลงคนละชื่อกัน วุ่นวายดี แต่ก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ร่ำรวย

มาเกิดปัญหาก็ตรงที่บริษัทที่ตั้งใหม่ จะทำโรงงานผลิตเทปใส ตอนสร้างโรงงาน ใช้เงินตัวเองไม่พอ ก็ต้องขอสินเชื่อ แล้วปกติทุกปีทำงบมีกำไรนิดหน่อย เอาแค่บางๆ  ก็ขอวงเงินได้ไม่มาก ที่ดินก็เช่าเจ้าของบริษัท 

เรื่องนี้ เกิดปัญหาขึ้น จากการทำผิดพลาดอะไรก็จำไม่ได้แล้ว  แต่ในปีนั้นงบขาดทุนหนักเลย  แก้ก็ไม่ได้แล้ว  เพราะส่ง ภ.พ. 30 (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทุกเดือน จะขยับยอดขายไม่ได้แน่ๆ  แถมอีก 2 ปี ถัดมาก็ต้องขาดทุนต่อเนื่อง จากค่าเสื่อมเครื่องจักรเข้าไปอีก งบมีปัญหา ธนาคารเริ่มนั่งไม่ติดล่ะทีนี้ รู้ว่าลูกค้ามีเงิน แต่งบมันไม่สะท้อน จะขอวงเงินเพิ่มยากแล้ว  เพราะมีเงินหมุนเวียนในบัญชีที่กระจัดกระจาย และไม่น่าเชื่อถือ งบมาขาดทุนหนักอีก

หลายคนก็สงสัยว่า ที่ผ่านมา ธนาคารเขาก็ไม่เชื่องบสรรพากรกันอยู่แล้วนี่ เวลาขอสินเชื่อเราก็ให้งบ 2 เล่ม ธนาคารก็อนุมัติวงเงินอยู่ดี  อันนี้ต้องย้อนอดีต ตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้กระทรวงการคลังแก้ไขปัญหานี้ เพราะเป็นเหตุให้รัฐบาลเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าความเป็นจริง ดังนั้นกระทรวงการคลัง จึงหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้ธนาคารทุกแห่งให้ใช้งบการเงินที่ยื่นเสียภาษีเงินได้ต่อกรมสรรพากร เป็นหลักฐานในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ตั้งแต่ต้นปี 2562  หากไม่ปฎิบัติตามธนาคารพาณิชย์จะมีโทษด้วย

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏ โดยที่เจ้าของกิจการมักจะมองระยะสั้น ไม่มองประโยชย์ระยะยาวคือ การที่ธุรกิจส่งงบบัญชีเดียวจะส่งผลดี  สะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่แท้จริงของธุรกิจ จะส่งผลดีต่อการขยายธุรกิจของลูกค้าในอนาคต และในด้านการขอสินเชื่อก็ทำให้ธนาคารพาณิชย์เห็นข้อมูลที่เป็นจริงของธุรกิจสามารถอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น มีหลายธนาคารมีโปรโมชั่นอัตราดอกเบี้ยพิเศษ สำหรับธุรกิจที่แจ้งสรรพากรว่าใช้ระบบบัญชีเดียว

อาจจะสงสัยว่า จะมีผลดีต่อการขยายธุรกิจอย่างไร ขอยกตัวอย่างธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่ง แกทำธุรกิจกัน 4 พี่น้อง ทำจนร่ำรวย พอคิดจะแบ่งสมบัติให้ที่ดิน น้อง ๆ ไปต่อยอดธุรกิจกันเอง ก็เสียค่าโอนกันเยอะเลย  ที่ต้องแบ่งสมบัติเพราะเริ่มเข้ารุ่นลูกๆ แล้ว จะบริหารงานกงสีชักลำบาก    ด้วยวิธีคิดที่เอามาแชร์ อาจจะทำให้ท่านผู้อ่านเอาไปใช้นะครับ เขาตรงไปตรงมา ระบบบัญชีเล่มเดียว กิจการมีกำไร ก็เอาเงินไปซื้อทรัพย์สินในนามบริษัทแม่ บริษัทรับภาระค่าภาษีทั้งหมด แต่ครอบครัวนี้ก็ยังเป็นเจ้าของในฐานะผู้ถือหุ้น และผู้บริหารอยู่ ทำกิจการขยายไปมากมาย  มีหลายบริษัท ก็เอาบริษัทแม่ไปถือหุ้น  เจ้าของถือหุ้นเล็ก ๆ ในบริษัทลูกพอแล้ว ด้วยความที่กิจการโตเร็ว มีโอกาสจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต เพราะเขามองว่า ต่อไปคนบริหารทรัพย์สินให้ครอบครัว ไม่ใช่การส่งต่อลูกหลาน แต่สามารถเอามืออาชีพมาช่วยได้ และที่ดีขึ้นคืออนาคตลูกๆ จะแบ่งสมบัติมรดก ก็แบ่งกันด้วยการโอนหุ้น ไม่ต้องมาโอนที่ดินแปลงนี้ยกให้ลูกคนไหน และอนาคตเมื่อลูกหลานคนไหนไม่อยากทำธุรกิจนี้แล้วก็สามารถขายหุ้นทิ้งออกไปได้ ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการโอนขายทรัพย์สิน และสภาพคล่องในการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ดีกว่าขายที่ดิน โรงงาน แน่นอน 

และด้วยการที่งบการเงินกำไรมาก ตอนธนาคารขอเข้าไปเสนอสินเชื่อนี่ เงื่อนไขที่ต่ำสุด ๆ ดอกเบี้ยน้อย ผ่อนยาว ช่วยพิจารณารับธนาคารเข้าไปด้วยนะครับ  อิจฉาในวิธีคิดที่ล้ำของลูกค้าเราจริงๆ มองการไกล และเรื่องภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ก็ไม่ต้องกังวลด้วย  เงินได้จากการปันผลก็อาจขอคืนภาษีได้อีก เนื่องจากเงินกำไรนี้เสียภาษีนิติบุคคลไปแล้ว 

อ่านถึงช่วงสุดท้ายแล้ว  เห็นโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากการทำบัญชีเล่มเดียวแล้วใช่ไหมครับ  ขอให้ประสบความสำเร็จในการขยายกิจการนะครับ

 

 Author : รัฐ ลิ่วนภโรจน์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า  ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

 

Most Viewed
more icon
  • 5 วิธี พาธุรกิจฝ่าวิกฤตตามแนวคิด Lean Management

    ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังระส่ำระส่ายจากความท้าทายรอบด้าน ทุกธุรกิจต่างได้รับผลกระทบกันทุกหย่อมหญ้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทางรอดของผู้ประกอบการมีหลายทาง แต่วันนี้เราอยากชวนผู้ประกอบการมารู้จักกับแนวคิดการบริหา...

    calendar icon03.05.2020
  • ต้องทำอย่างไรเมื่อผู้ซื้อในต่างประเทศยื่นล้มละลาย

    ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 ยังคงกระจายอยู่ในหลายประเทศ และยังไม่มีวี่แววว่าจะสงบลงเมื่อใด เราก็เริ่มได้ข่าวการหดตัวของกิจการใหญ่ชื่อดังหลายราย ที่เริ่มจากการลดสาขา ลดกำลังการผลิต หรือหยุดการผลิตชั่วคร...

    calendar icon09.07.2020
  • คาถาพิชิตวิกฤต “ต้องสู้ จึงจะชนะ”

    การทำธุรกิจส่งออก เปรียบเสมือนการโล้สำเภาในมหาสมุทร ยามที่คลื่นลมสงบ ทุกอย่างก็ราบรื่น แต่ในยามที่เจอพายุใหญ่ คลื่นลมถาโถม ไต้ก๋งจะต้องทำทุกอย่างเพื่อประคองให้เรือยังแล่นต่อไปจนถึงฝั่งให้ได้ แม้จะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ก็ตาม ...

    calendar icon27.04.2020