การเงิน - บริหารจัดการ

เอ็นพีแอล เป็นแล้วแก้ไขได้

หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performance Loan :NPL ) หรือที่นิยมเรียกกันว่า “หนี้เสีย” หรือ “เอ็นพีแอล” เป็นสิ่งที่ทั้งเจ้าหนี้ หรือ ผู้ประกอบการเองไม่มีใครอยากที่จะเจอและอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ คำนี้เคยเป็นฝันร้ายของระบบเศรษฐกิจไทย ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งมาแล้ว ทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งถึงกลับล้มละลายเพราะเงินกองทุนตามกฏหมายติดลบ

ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ผมได้เจอกับนักธุรกิจหลายราย ทั้งที่ทำธุรกิจทั่วไป และ ที่ประกอบธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ที่เป็นเอ็นพีแอลหลายราย จึงขอนำประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้ผู้ประกอบการที่กำลังประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั้งโลกจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้มีภูมิคุ้มกันและเตรียมพร้อม

ก่อนอื่นขอบอกถึงเหตุบ่งชี้ที่จะทำให้กิจการของคุณเป็นเอ็นพีแอลก่อน สาเหตุการเกิดหนี้เสียนั้น เกิดได้ทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก

ปัจจัยภายใน เกิดได้หลายกรณี เช่น การบริหารจัดการที่ไม่เป็นระบบระเบียบ บริหารการเงินผิดพลาด นำเงินไปใช้ผิดประเภทจนขาดสภาพคล่อง หรือเกิดจาก Supplier ปรับเงื่อนไขการขาย ปรับราคาจนต้นทุนสูง ไม่สามารถแข่งขันได้ หรือ Buyer รายใหญ่ยกเลิกการสั่งซื้อ

เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ผมมีตัวอย่างที่ผู้ประกอบการท่านหนึ่ง ทำตลาดโดยขายให้ผู้นำเข้ารายใหญ่เพียงรายเดียวของยุโรป  เมื่อลูกค้าเปลี่ยนใจย้ายคำสั่งซื้อไปประเทศอื่น ที่มีราคาขายถูกกว่า เครื่องจักรที่ลงทุนไปมูลค่าสูง และไม่สามารถหาลูกค้าใหม่ได้ เครื่องจักรเดินเครื่องไม่คุ้มต้นทุน ราคาสินค้าที่ผลิตได้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ทำให้กลายเป็นเอ็นพีแอลเพราะปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่เกิดขาดสภาพคล่องจากการเกิดอุบัติเหตุ โรงงานต้องหยุดผลิต

กรณีตัวอย่างที่ผมจำได้แม่น คือลูกค้าขาดสภาพคล่องเพราะได้รับผลกระทบธุรกิจจากเทคโนโลยีที่ล้าสมัยทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้  มีผู้ประกอบการรายหนึ่งที่ทำโรงงานผลิตตู้ชั้นวางทีวีส่งออกให้บริษัทขายเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ระดับโลก แรกๆก็ขายดิบขายดี แต่ต่อมาคำสั่งซื้อหายไปอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ที่เป็นเช่นนี้เพราะเทคโนโลยีการผลิตโทรทัศน์เปลี่ยนไปเป็นทีวีจอแบน แขวนผนังได้ ลูกค้าที่เคยซื้อชั้นวางทีวีเช่นโรงแรม บริษัทห้างร้านต่างๆ ก็เลิกซื้อ ทำให้โรงงานเฟอร์นิเจอร์ที่ทำตู้วางทีวีก็ต้องปิดกิจการไป เพราะไม่สามารถเปลี่ยนไลน์การผลิตไปผลิตสินค้าอื่นทดแทนและหาตลาดใหม่ได้

สำหรับปัจจัยภายนอก ที่จะมีผลต่อธุรกิจ จะมีมากหรือน้อย ก็แล้วแต่เรื่อง มีทั้งปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ไลฟ์สไตล์ของคนเปลี่ยนแปลง กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม โรคระบาด  หรือ ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง แผ่นดินไหว พายุ ฯลฯ  ผลกระทบจากปัจจัยภายนอกนั้นมีทั้งที่ค่อย ๆ ส่งสัญญานเตือน ให้นักธุรกิจเตรียมปรับตัว เช่น พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ที่พอยกตัวอย่างได้ คือกระแสการรักสุขภาพมาแรง ประชาชนนิยมบริโภคสินค้าที่ไม่ทำลายสุขภาพ สินค้ากลุ่มขนมหวาน ที่ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการในขนาดแพ็คบรรจุที่เล็กลง ขนมต้องให้พลังงานน้อยลง  ทำให้ต้องมีการวิจัยพัฒนาปรับสูตรสินค้าให้สอดคล้องกับตลาด หรือบางปัจจัยเกิดขึ้น โดยไม่สามารถปรับตัวได้ทัน เช่น ภัยน้ำท่วมทั้งประเทศ โรคติดต่อร้ายแรง หรือการปรับนโยบายของรัฐบาล

ในกรณีที่เกิดเหตุร้ายที่ส่งผลเสียกับกิจการจนไม่สามารถเยียวยาได้ จนเกิดเป็นหนี้เอ็นพีแอล และถึงเวลาที่เจ้าของกิจการควรเตรียมพร้อมเพื่อเจรจากับเจ้าหนี้ ทั้งเจ้าหนี้การค้า และเจ้าหนี้สถาบันการเงิน เพื่อช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูกิจการให้ดีขึ้น

สิ่งสำคัญสิ่งแรกในการหารือร่วมกัน คือ ต้องสามารถให้เจ้าหนี้ ทราบว่า ความเสียหายนั้น เกิดจากปัญหาใด  เพื่อจะได้ทราบสาเหตุและหาทางแก้ไข  ตัวอย่างที่เคยเจอลูกหนี้เป็นผู้ประกอบการส่งออกกุ้ง แต่สินค้าได้รับความเสียหายทั้งหมด ลูกหนี้บอกว่า เกิดจากห้องเย็นไม่ทำงาน ไม่สามารถซ่อมแซมได้ทัน เอาไปฝากกับโรงงานอื่นไม่ได้ ทำให้สินค้าในห้องเย็นเน่าเสียต้องทำลายทิ้งทั้งหมด ต้องการปรับโครงสร้างหนี้ ขอให้เจ้าหนี้ลดหนี้เงินต้นให้  ซึ่งไม่มีหลักฐานการเกิดไฟฟ้าขัดข้อง ไม่มีภาพถ่ายการทำลายสินค้าที่เน่าเสียไป สุดท้ายเจ้าหนี้ไม่ผ่อนผันการชำระหนี้ให้ กิจการและเจ้าของต้องล้มละลายไป เพราะไม่สามารถหาที่มาของความเสียหายได้ 

ในทางกลับกัน มีผู้ประกอบการฟาร์มกุ้ง ที่กุ้งตายยกบ่อ และราคากุ้งในปีที่เกิดปัญหาตกต่ำ ด้วยความช่วยเหลือจากเจ้าหนี้และเงินทุนสะสม สามารถกลับมาเยียวยาสถานการณ์ได้ เพราะมีเหตุให้เจ้าหนี้เชื่อได้ว่าจะสามารถหาเงินมาคืนเงินได้ ก็ช่วยกันแก้ปัญหาจนกิจการกลับมาเป็นปกติ

เมื่อทราบสาเหตุการไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ตามเงื่อนไขเดิม จนต้องเป็นเอ็นพีแอลแล้ว ต้องสร้างความมั่นใจให้เจ้าหนี้มั่นใจว่าจะหาเงินจากอนาคตมาคืนหนี้ ด้วยวิธีใด เช่น มีคำสั่งซื้อล่วงหน้า ผู้ซื้อยังมีความต้องการสินค้า หากทำธุรกิจต่อไป หรือปรับปรุงคุณภาพสินค้า จะสามารถทำกำไรมาคืนหนี้ได้

ส่วนของการกำหนดเงื่อนไขการชำระคืนหนี้ นั้น มีส่วนที่ต้องพิจารณา 3 ส่วน คือ ส่วนของ เงินต้น  อัตราดอกเบี้ยหลังปรับโครงสร้างหนี้แล้ว และเงินต้นดอกเบี้ยที่ยังค้างชำระ 

ส่วนของเงินต้นนั้น โอกาสที่คาดหวังว่าจะได้ลดเงินต้น ได้ยกหนี้นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากเงินต้นนั้นผู้ให้กู้โดยเฉพาะสถาบันการเงินทั้งหลายก็กู้ยืมมาจากผู้ฝากเงิน แต่การจะลดหนี้เงินต้นเพื่อลดภาระการผ่อนหนี้นั้น ผู้กู้อาจจะต้องลดหนี้โดยการโอนทรัพย์ชำระหนี้ไปบางส่วนก่อน แล้วอาจจะขอสิทธิซื้อคืนเมื่อมีกำไรเพียงพอและมีความพร้อม

ดอกเบี้ย ก็เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเจ้าหนี้มีต้นทุน และต้องการให้คงสภาพเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ ดังนั้นต้องมีการชำระดอกเบี้ยแน่นอน แต่อาจจะมีการจ่ายชำระไม่เต็มจำนวนเป็นการชั่วคราว โดยปกติเจ้าหนี้สถาบันการเงินมักจะนิยมกำหนดให้คิดอัตราดอกเบี้ยในอัตราผิดนัด แต่ให้จ่ายจริงตามเงื่อนไขไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แล้วจะยกหนี้ดอกเบี้ยส่วนต่างให้เมื่อชำระครบตามเงื่อนไข เพื่อรักษาสิทธิไว้ เนื่องจากมีหลายรายที่เจรจาปรับโครงสร้างหนี้แล้วก็ไม่ชำระคืนได้ตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ เจ้าหนี้ยังคงสิทธิดำเนินคดีตามกฎหมายได้

แต่สิ่งรบกวนจิตใจทั้งเจ้าหนี้ และลูกหนี้ คือหนี้ค้างชำระเดิม เพราะเจ้าหนี้บางรายที่ขาดประสบการณ์ อาจจะพยายามขอให้ลูกหนี้ชำระหนี้ค้างเดิมก่อน ซึ่งหากสวมหมวกบทบาทของลูกหนี้เอ็นพีแอลแล้ว  เงินที่เหลือในกิจการเป็นก็อกสุดท้ายในการอยู่รอด จะซื้อวัตถุดิบอะไรก็ต้องซื้อเป็นเงินสด เจ้าหนี้การค้าไม่ยอมให้เครดิตเพิ่มเติมแล้ว และขายของใหม่มาก็ขอเงินไปตัดหนี้เก่าบางส่วนเสียด้วย  ดังนั้นไม่มีสูตรการกำหนดเงื่อนไขปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นสูตรสำเร็จ  ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีกันไป

ที่ต้องไม่ลืมเด็ดขาด คือ ต้องเจรจากับเจ้าหนี้ให้เรียบร้อยก่อนจะผ่อนเงิน  บางรายไม่กล้าไปคุยกับธนาคารแต่โอนเงินจ่ายให้ทุกเดือน น้อยบ้างมากบ้าง เงินที่โอนไปก็ตัดหนี้ดอกเบี้ยค้างในอัตราผิดนัดมาตลอด ควรต้องไปเจรจาให้เรียบร้อย มีการทำข้อตกลงเงื่อนไขเป็นลายลักษณ์อักษรกันด้วย  

สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการคาดหวังจากเจ้าหนี้ คือ การขอเครดิตเพิ่ม ซึ่งมีบางธนาคาร โดยเฉพาะจากต่างประเทศ มีนโยบายชัดเจน มีธุรกิจมากมาย ทำไมต้องเอาเงินไปให้ธุรกิจรายที่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้เพิ่มอีก ซึ่งหากคิดในมุมที่เราเป็นเจ้าของเงิน ถ้าเราเอาเงินไปฝาก แล้วธนาคารนั้นบอกนโยบายชัดเลยว่า อ็นพีแอล ที่ไหนก็มาขอกู้เพิ่มที่ธนาคารนี้ได้ คงไม่มีใครกล้าเอาเงินไปฝากแน่ๆ นั่นคือ เรื่องของเครดิตบูโรที่จะเขียนถึงในโอกาสถัดไป

เมื่อโอกาสที่จะได้วงเงินเพิ่มเสริมสภาพคล่องกิจการ ตนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน  ต้องพิจารณาเรื่องของการบริหารสภาพคล่องให้ดีด้วย

อีกคำหนึ่งที่อาจจะต้องพบคือ การฟื้นฟูกิจการ ตามกระบวนการของศาลล้มละลาย เนื่องจากบางธุรกิจมีเจ้าหนี้จำนวนมาก ไม่สามารถเจรจาเงื่อนไขให้เจ้าหนี้ทุกรายเห็นพ้องร่วมกันได้ อาจจะต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อให้การลงมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ กำหนดเงื่อนไขที่ให้เจ้าหนี้ทุกรายต้องยอมรับผูกพันตามเงื่อนไข แต่ทั้งนี้จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามกฎหมาย เช่น ค่าถ่ายเอกสาร ค่าทำแผนฟื้นฟูกิจการ การเดินทางไปกรมบังคับคดีเพื่อตรวจสอบหนี้ ไต่สวนยอดหนี้ การทำบัญชี ค่าเช่าห้องประชุมเจ้าหนี้ ค่าใช้จ่ายทนาย และใช้เวลาตามกระบวนการกฎหมาย  ซึ่งในทางกลับกันหากเราเป็นเจ้าหนี้การค้าขายสินค้าให้ผู้ซื้อในต่างประเทศ เมื่อผู้ซื้อมีปัญหาทางการเงินต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย หรือที่เรามักได้ยินว่า Chapter  11 เจ้าหนี้การค้าแบบเรา หวังจะได้รับค่าสินค้ากลับต้องตกไปในกระบวนการฟื้นฟูกิจการของผู้ซื้อต่างประเทศนั้น ก็จะต้องพิจารณาความคุ้มค่าใจการยื่นขอรับชำระหนี้ และโอกาสที่จะได้คืนหนี้  เรื่องนี้ขอค้างไว้ ไปศึกษาเรื่องการประกันการส่งออกได้

สุดท้ายนี้ ผมขอฝากผู้ประกอบการธุรกิจทุกท่าน ให้ดำเนินธุรกิจด้วยความไม่ประมาท พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด การทำประกัน ทั้งประกันอัตราแลกเปลี่ยน ประกันอัคคีภัย และประกันการส่งออกกรณีไม่ได้รับชำระค่าสินค้าจากผู้ซื้อ เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญและควรให้ความสำคัญ ขอย้ำว่าธุรกิจไม่ใช่การเสี่ยงดวง  ไม่ใช่การลุ้นอัตราแลกเปลี่ยน อย่าเชื่อมั่นว่าธุรกิจของท่านจะไม่มีอุบัติเหตุแน่ ค่าใช้จ่ายในการทำประกันจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดผลทางลบให้กลายสภาพเป็นเอ็นพีแอลได้

 

    Author : รัฐ ลิ่วนภโรจน์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า  ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

 

Most Viewed
more icon
  • แต่งบัญชี หวังจะเลี่ยงภาษี

    แต่งบัญชี หวังจะเลี่ยงภาษี ในอดีต เราคงจะเคยได้ยินเรื่องที่ผู้ประกอบการ มักจะทำบัญชีสองเล่ม โดยมีเหตุผลว่าเพื่อใช้สำหรับกู้เงินกับธนาคารและใช้สำหรับยื่นเสียภาษีเงินได้ บัญชีทั้ง 2 เล่มนี้ มีความแตกต่างกันในเรื่อง...

    calendar icon20.05.2020
  • 5 วิธี พาธุรกิจฝ่าวิกฤตตามแนวคิด Lean Management

    ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังระส่ำระส่ายจากความท้าทายรอบด้าน ทุกธุรกิจต่างได้รับผลกระทบกันทุกหย่อมหญ้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทางรอดของผู้ประกอบการมีหลายทาง แต่วันนี้เราอยากชวนผู้ประกอบการมารู้จักกับแนวคิดการบริหา...

    calendar icon03.05.2020
  • ต้องทำอย่างไรเมื่อผู้ซื้อในต่างประเทศยื่นล้มละลาย

    ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 ยังคงกระจายอยู่ในหลายประเทศ และยังไม่มีวี่แววว่าจะสงบลงเมื่อใด เราก็เริ่มได้ข่าวการหดตัวของกิจการใหญ่ชื่อดังหลายราย ที่เริ่มจากการลดสาขา ลดกำลังการผลิต หรือหยุดการผลิตชั่วคร...

    calendar icon09.07.2020