การเงิน - บริหารจัดการ

‘สภาพคล่อง’ เรื่องสำคัญที่ควรตระหนัก

ปี 2563 นับว่าเป็นปีแห่งความผันผวนของเศรษฐกิจ แค่เพียงไตรมาสแรกของปีนี้ คนทำธุรกิจเจอเรื่องที่น่าตื่นตระหนกตลอดเวลา ทั้งภัยธรรมชาติ  ภัยสงครามการค้า และ ภาวะโรคติดต่อร้ายแรง สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องกังวล คือความอยู่รอดของกิจการ ซึ่งไม่ใช่เพียงการมุ่งเน้นกำไร ยังต้องเน้นถึงการรักษาสภาพคล่องของกิจการให้เงินหมุนได้ทัน เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายประจำทั้งหมดด้วย

แม้วัตถุประสงค์ของการทำธุรกิจ คือการแสวงหากำไร แค่การจะมีกำไรนั้น จะต้องทำให้ธุรกิจเดินหน้า มีสายป่านยาวเพียงพอ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงคือ “การรักษาสภาพคล่อง”

การรักษาสภาพคล่อง คือ การที่เราสามารถรักษาสมดุลให้ธุรกิจมีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะดำเนินธุรกิจไปได้โดยไม่เกิดปัญหา มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายค่าแรงให้กับลูกจ้าง จ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นให้เจ้าหนี้ จ่ายเงินค่าวัตถุดิบ ค่าไฟฟ้า ค่าเช่า ค่าชิปปิ้ง ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะหากเกิดความเสี่ยงที่ไม่คาดฝันขึ้นธุรกิจก็ยังจะเดินหน้าต่อไปได้

 มีหลายธุรกิจ สามารถใช้ประโยชน์จากการบริหารสภาพคล่อง โดยขายสินค้าหรือบริการเป็น เงินรับล่วงหน้า เช่น บัตรเติมเงิน ค่าสมาชิกรายปี  แต่บริหารเงินออก โดยใช้เครดิตการค้า หรือ ชำระเป็นเงินผ่อน แล้วนำสภาพคล่องส่วนเกินไปลงทุนโดยไม่ต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ก็สร้างกำไรส่วนเพิ่มได้ แต่ในขณะเดียวกัน การรับเงินล่วงหน้าก็ต้องให้สิ่งจูงใจ เช่น ส่วนลดพิเศษ จึงมีโอกาสที่จะทำให้อัตราการทำกำไรลดลงด้วย หากสามารถบริหารให้ดีได้ ก็จะทำให้มีเงินหมุนเวียนมากขึ้น แต่กำไรไม่ลดลง

สำหรับธุรกิจที่ขายเชื่อ ให้เครดิตนานๆ ย่อมขายได้ในราคาสูงกว่าขายเป็นเงินสด มียอดขายก็เพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อเงินเรียกเก็บจากลูกหนี้การค้ากลับคืนมาได้ช้า และจำนวนลูกหนี้การค้าเยอะเกินไป ธุรกิจก็จะไม่มีเงินสดหมุนเวียนเพียงพอต่อรายจ่ายประจำ

ดังนั้น ในการทำธุรกิจ ต้องไม่ประมาท ควรคำนึงถึงปัจจัยทั้งสองสิ่ง คือการทำกำไร และการรักษาสภาพคล่อง

มีกรณีตัวอย่างของกิจการที่ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างที่คาดไม่ถึง เช่น รับจ้างทำงานราชการจำนวนมาก รับทำถนน ขุดคลองชลประทาน โดยทุกครั้งที่ชนะการประมูลงาน ก็ต้องนำเงินไปวงเป็นค้ำประกันการทำงาน โดยหวังว่าเมื่อทำงานเสร็จสิ้น และการประกันการทำงานครบเงื่อนไข  1-2 ปี ก็ได้เงินคืนมา เมื่อกิจการรายนี้ได้รับการว่าจ้างทำงานจำนวนมาก กลับเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องรุนแรง เงินสดของกิจการถูกนำไปวางเป็นประกัน ไม่สามารถจ่ายคืนหนี้การค้าได้ทัน จ่ายเงินค่างวดงานผู้รับเหมาไม่ได้ จนเกิดวิกฤตในธุรกิจ

สิ่งที่ต้องตระหนักตลอดเวลาสำหรับผู้ประกอบการ คือ ปัญหาขาดสภาพคล่อง อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดฝัน ไม่คาดคิด ทำให้ไม่มีการเตรียมวางแผนรับมือไว้ก่อน ยกตัวอย่าง เช่น ในกรณีที่เราทำธุรกิจขายสินค้าส่งให้กับผู้ซื้อรายใหญ่ ซึ่งอาจเป็นบริษัทมหาชน แต่เมื่อบริษัทผู้ซื้อรายใหญ่นั้น ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ขอพักการชำระหนี้ทั้งหมด เจ้าหนี้การค้าทั้งหมดต้องรอรับเงินตามแผนฟื้นฟูกิจการ โอกาสได้รับเงินคืนล่าช้า และอาจไม่เต็มจำนวน อาจถูกลดหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการได้

สำหรับแนวทางในการเสริมสภาพคล่อง นอกจากการเตรียมวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนไว้สำรองแล้ว การบริหารหนี้การค้า โดยขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้การค้า และเร่งรัดติดตามเงินจากลูกหนี้การค้า เช่น ให้ส่วนลดพิเศษ ก็ช่วยเสริมสภาพคล่องได้   สต๊อกสินค้า ก็เป็นอีกปัจจัยที่สร้างปัญหาในการจัดการสภาพคล่องอย่างมา ในภาวะที่การค้าซบเซา ยอดขายลดลง หากผู้ประกอบธุรกิจยังคงผลิตจำนวนเท่าเดิม ก็จะมีของล้นสต๊อกได้ ควรที่จะปรับแผนการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะการตลาดด้วย

คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ การนำเข้าส่งออก ผู้ส่งออกที่เดิมค้าขายด้วยเงื่อนไขการชำระเงิน ที่ให้เครดิตการค้า เช่น D/P Term หรือ L/C Term 120 days ก็อาจต้องเสนอราคาพิเศษโดยขอปรับเทอมการค้าให้สอดคล้องกับสภาพคล่องของกิจการด้วย เช่นขอเป็น Sight หรือ Term ที่สั้นลง  และเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระหนี้ หรือผู้ซื้อในต่างประเทศประสบปัญหาทางการเงิน ล้มละลาย หรือฟื้นฟูกิจการ การป้องกันอีกทางหนึ่งก็คือ การทำประกันการส่งออก ที่ผู้เขียนแนะนำให้ท่านผู้ประกอบการได้หาข้อมูลเพื่อใช้ป้องกันความเสี่ยง และเป็นการบริหารสภาพคล่อง

 

Author : รัฐ ลิ่วนภโรจน์   ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า   ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

Most Viewed
more icon
  • แต่งบัญชี หวังจะเลี่ยงภาษี

    แต่งบัญชี หวังจะเลี่ยงภาษี ในอดีต เราคงจะเคยได้ยินเรื่องที่ผู้ประกอบการ มักจะทำบัญชีสองเล่ม โดยมีเหตุผลว่าเพื่อใช้สำหรับกู้เงินกับธนาคารและใช้สำหรับยื่นเสียภาษีเงินได้ บัญชีทั้ง 2 เล่มนี้ มีความแตกต่างกันในเรื่อง...

    calendar icon20.05.2020
  • 5 วิธี พาธุรกิจฝ่าวิกฤตตามแนวคิด Lean Management

    ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังระส่ำระส่ายจากความท้าทายรอบด้าน ทุกธุรกิจต่างได้รับผลกระทบกันทุกหย่อมหญ้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทางรอดของผู้ประกอบการมีหลายทาง แต่วันนี้เราอยากชวนผู้ประกอบการมารู้จักกับแนวคิดการบริหา...

    calendar icon03.05.2020
  • ต้องทำอย่างไรเมื่อผู้ซื้อในต่างประเทศยื่นล้มละลาย

    ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 ยังคงกระจายอยู่ในหลายประเทศ และยังไม่มีวี่แววว่าจะสงบลงเมื่อใด เราก็เริ่มได้ข่าวการหดตัวของกิจการใหญ่ชื่อดังหลายราย ที่เริ่มจากการลดสาขา ลดกำลังการผลิต หรือหยุดการผลิตชั่วคร...

    calendar icon09.07.2020