การตลาด

นักส่งออกควรปรับตัวอย่างไร เมื่อโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก กำลังฉุดเศรษฐกิจโลกให้ถดถอยอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับธุรกิจส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองและปิดประเทศชั่วคราว ตั้งแต่ส่งออกสินค้าไม่ได้ สินค้าตกค้างในสต็อก ต้นทุนจม ทำให้ขาดทุนมหาศาล นักส่งออกจะ ‘คิด’ และ
‘ทำ’ แบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว จึงต้องคิดหากลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อรับมือ และปรับตัวให้ทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะผลกระทบจากโรคระบาดครั้งนี้อาจกินระยะเวลานานไปจนถึงปีหน้า 

ผู้ประกอบการส่งออกที่จะแข็งแรงต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำได้ จะต้องปรับตัวขนานใหญ่เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงที่ยากลำบากที่สุดในการทำธุรกิจไปได้ ดังนี้

 

1.ปรับโครงสร้างทางการเงิน

ก่อนอื่นนักส่งออกต้องรีบหา ‘ปากแผล’ ให้เจอว่าต้นเหตุของการขาดทุนนั้นมาจากทางไหนบ้าง และรีบรักษาให้เร็วที่สุด เริ่มจากตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ต้นทุนการผลิต ค่าซ่อมบำรุงเครื่องจักร ที่สำคัญอย่าลืมเช็คว่าบริษัทว่ามีรายได้จากทางไหนบ้าง มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินหรือเปล่า หากมีหนี้สินหรือกู้ยืมมาลงทุนทำธุรกิจควรติดตามมาตรการเยียวยาหนี้สินของธนาคาร และเจรจาแจ้งเงื่อนไขการผ่อนผันชำระเงิน เช่น พักเงินต้น พักดอกเบี้ย ที่สำคัญควรวางแผนการเงินให้ดีว่ายังเหลือเงินสดพอใช้ไปถึงกี่เดือน และเก็บเงินก้อนสำหรับฟื้นฟูกิจการหลังภาวะวิกฤตด้วย 

 

2.ปรับกลยุทธ์การขายสินค้า

เมื่อส่งออกไม่ได้ ก็ต้องหันมาพึ่งตลาดในประเทศ และเร่งระบายสินค้าในสต็อกให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอาหารสด พืชผัก ผลไม้ที่หมดอายุเร็ว ธุรกิจอาหารที่มีวัตถุดิบเหลือเยอะ ลองเปลี่ยนมาเจาะกลุ่มธุรกิจร้านอาหารซึ่งตอนนี้หันมาให้บริการเดลิเวอรีและซื้อกลับบ้าน เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ต้องซื้อวัตถุดิบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยชูจุดเด่นด้านคุณภาพของสินค้าเกรดส่งออก บวกกับทำโปรโมชันลดราคา แม้ว่าจะต้องขายขาดทุนบ้างแต่ก็ดีกว่าปล่อยสินค้าค้างสต็อก ส่วนอุปกรณ์เครื่องครัวที่เหลือใช้ เช่น เตาย่างไฟฟ้า หม้อชาบูสุกี้ ก็สามารถให้เช่า ขายต่อ หรือแจกให้กับลูกค้าที่อุดหนุนเยอะ แทนที่จะเก็บไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ 

นอกจากนี้ ยังมีช่องทางอีกมากมายในการโปรโมทและขายสินค้าทางออนไลน์ให้กับผู้บริโภคโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ โซเชียลมีเดีย ไลน์และช่องทางแชทอื่นๆ หรือแม้แต่กลุ่มบนเฟซบุ๊กที่มหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดเป็นตลาดนัดออนไลน์สุดคึกคักให้ศิษย์เก่าศิษย์ใหม่ได้ฝากร้านกันฟรีๆ เช่น จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลซ หรือ ธรรมศาสตร์และการฝากร้าน วิธีนี้ก็จะช่วยให้มีคนรู้จัก และเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้น 

ส่วนธุรกิจอื่นๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้าแฟชั่น ลองปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับสถานการณ์และความต้องการของตลาดในปัจจุบัน เช่น เฟอร์นิเจอร์สำหรับคนที่ทำงานอยู่บ้าน ธุรกิจเสื้อผ้าสามารถต่อยอดวัสดุที่มีอยู่มาใช้ผลิตอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อจากโรคโควิด-19 เช่น หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย ซองใส่หน้ากาก Face Shield  หรือชุดสำหรับใช้ทางการแพทย์แทน สำหรับธุรกิจภาคบริการ ลองดัดแปลงให้เป็นบริการในรูปแบบดิจิทัล หรือสิ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการใช้ชีวิตและทำงานอยู่บ้านมากขึ้น 

 

 3.ยืดหยุ่นและปรับบริษัทให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ 

ในภาวะวิกฤตย่อมไม่มีอะไรแน่นอน ผู้ประกอบการควรสื่อสารกับพนักงานในบริษัทให้ชัดเจนว่าจะปรับตัวไปในทิศทางไหน และประสานงานกันอย่างรวดเร็ว และดึงเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยทุ่นแรง เพื่อให้ทุกฝ่ายทำงานได้เร็วขึ้นและเข้าใจเป้าหมายร่วมกัน เช่น เปลี่ยนประเภทสินค้าที่ผลิต เปลี่ยนวิธีการทำงาน ผู้ประกอบการจะต้องกระตุ้นให้พนักงานเร่งปรับตัวและทำงานได้หลากหลายขึ้น เช่น แพ็คของ ขับรถไปส่งของลูกค้า สื่อสารกับลูกค้าผ่านทุกช่องทางออนไลน์ กระตุ้นยอดขายทางออนไลน์ ในขณะเดียวกันธุรกิจอาจจำเป็นต้องลดเงินเดือนพนักงาน พักงานชั่วคราว หรือแม้กระทั่งปลดพนักงานที่ปรับตัวไม่ได้เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ซึ่งในกรณีเหล่านี้เราสามารถเจรจาผ่อนผันกันว่าพนักงานสามารถกลับมาทำงานได้อีกครั้ง หรือรับเงินเดือนตามปกติเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว

 

4.เตรียมฟื้นฟูธุรกิจ และเพิ่มทักษะแรงงาน

สงครามระหว่างคนกับไวรัสยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลงในเร็วๆ นี้ ต้องคอยจับตามองว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะปรับตัวไปในทิศทางไหน และเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่แย่ที่สุด เช่น ถ้าต้องปิดกิจการแล้วจะทำอะไรต่อ หรือจะฟื้นฟูธุรกิจอย่างไรหลังการเปิดเมือง ที่สำคัญโรคระบาดนี้ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการรักษาระยะห่างระหว่างกัน (Physical Distancing) การทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) หรือการทำงานทางไกล (Remote Work) สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นความปกติใหม่ในโลกยุคหลังโควิด-19 นี่คือโจทย์ใหญ่ที่นักส่งออกต้องทำความเข้าใจ   ลองถือโอกาสนี้อัปเดทข้อมูลความรู้ใหม่ๆ ฝึกใช้เทคโนโลยีให้คล่อง โปรแกรมต่างๆที่ยังใช้ไม่คล่องก็ต้องเพิ่มทักษะขึ้นมา เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานรองรับการเปิดกิจการอีกครั้งหลังโรคระบาดจบลง   

Most Viewed
more icon
  • สินค้าอาหารไทย ยืนหยัดได้ในทุกวิกฤต

    จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศหดตัวลงทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่เป็นประเทศพึ่งพาการส่งออกเป็นสัดส่วนที่สูง ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ แต่มีสินค้าส่งออกประเภทหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบน...

    calendar icon29.05.2020
  • ธุรกิจแฟรนไชส์ โอกาสก้าวไกลของนักส่งออก

    ทุกวันนี้เราอยู่ในยุคที่ใครๆ ก็ฝันอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาเปิดกิจการของตัวเอง สร้างแบรนด์ของตัวเอง แทนที่จะทำงานประจำ ผสานการใช้เทคโนโลยีและพลังของโซเชียลมีเดีย เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงผ...

    calendar icon30.03.2020
  • FOOD TRENDS 2020

    วันนี้ EXAC by EXIM BANK นำข้อมูลเทรนด์อาหารเพื่อการส่งออก ปี 2020 มาให้ผู้ประกอบการได้อัพเดท เพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตกว่าที่เคย เพราะตอนนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทำให้มูลค่าตลอดของประเภทสินค้านั้น ๆ ก็เปลี่ยนไปด้วยเ...

    calendar icon03.03.2020