การตลาด

ธุรกิจแฟรนไชส์ โอกาสก้าวไกลของนักส่งออก

ทุกวันนี้เราอยู่ในยุคที่ใครๆ ก็ฝันอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาเปิดกิจการของตัวเอง สร้างแบรนด์ของตัวเอง แทนที่จะทำงานประจำ ผสานการใช้เทคโนโลยีและพลังของโซเชียลมีเดีย เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างมหาศาล นี่เป็นเทรนด์ของโลกที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ 

หนึ่งในบรรดาธุรกิจที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ คือ ธุรกิจแฟรนไชส์ เช่น การซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศมาเปิดในไทย การนำธุรกิจแฟรนไชส์ไทยไปเปิดในต่างประเทศ หรือแม้แต่เริ่มต้นทำธุรกิจแฟรนไชส์เป็นของตัวเอง ส่วนหนึ่งเพราะเราสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับแฟรนไชส์ได้ง่ายขึ้น มีหน่วยงานมากมายที่พร้อมสนับสนุนทั้งด้านการเงิน การบ่มเพาะความรู้ และส่งต่อ Know-how ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ขยายตัวอย่างรวดเร็วในไทย จากปี 2548 ที่มีเพียง 48 กิจการ เพิ่มขึ้นเป็น 584 กิจการในปี 2561

ธุรกิจแฟรนไชส์แบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ ‘Product Distribution Franchise’ หรือที่หลายคนคุ้นเคยกันดีในรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์แบบ Supplier กับ Dealer ซึ่งรูปแบบนี้เจ้าของแฟรนไชส์ (Franchisor) มีหน้าที่กระจายสินค้าหรือบริการให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ (Franchisee) พร้อมอนุญาตให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ใช้เครื่องหมายการค้าของตนเอง ส่วนผู้ซื้อแฟรนไชส์เองก็มีหน้าที่จัดจำหน่ายสินค้าหรือบริการตามมาตรฐานที่เจ้าของแฟรนไชส์กำหนดไว้ในสัญญา เรามักจะเห็นธุรกิจรูปแบบนี้ในการจำหน่ายน้ำอัดลม และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์

แฟรนไชส์อีกหนึ่งประเภทก็คือ ‘Business Format Franchise’ ซึ่งในรูปแบบนี้สิ่งที่เจ้าของแฟรนไชส์ (Franchisor) ต้องจัดเตรียมและกระจายให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ (Franchisee) ก็คือ ‘ระบบการดำเนินธุรกิจทั้งหมด’ ตั้งแต่แผนการตลาด คู่มือการปฏิบัติงาน เครื่องหมายทางการค้า เพื่อที่จะรักษาภาพลักษณ์และศักยภาพการแข่งขันในตลาด ตามมาตรฐานที่เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์กำหนดไว้ในสัญญา เรามักเห็นแฟรนไชส์รูปแบบนี้ในธุรกิจฟาสต์ฟู้ด ซึ่งใช้ระบบการดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก 

 ภาพรวมแฟรนไชส์ในไทย และโอกาสของนักส่งออก

ทุกวันนี้มีธุรกิจแฟรนไชส์ในไทยมากถึง 584 กิจการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม ค้าปลีก บริการ การศึกษา ความงามและสปา โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจบริการ การศึกษา และเบเกอรี่ซึ่งมีโอกาสขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในแต่ละปีมีผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจเข้าสู่วงการธุรกิจเฟรนไชส์กว่า 15,000-20,000 รายเลยทีเดียว ส่วนอีกหนึ่งกระแสที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันก็คือ การซื้อแฟรนไชส์ต่างประเทศมาเปิดให้บริการในไทย เช่น Starbucks ซึ่งเปิดให้บริการ 372 สาขา แถมยังมีรายได้เติบโตและทำกำไรอย่างต่อเนื่อง จึงไม่น่าแปลกใจที่ธุรกิจแฟรนไชส์จะมีการแข่งขันสูงและเป็นโอกาสสำคัญของผู้ส่งออกไทย

How to ปั้นธุรกิจแฟรนไชส์ให้ ‘รุ่ง’ 

เมื่อรู้จักประเภทของธุรกิจแฟรนไชส์กันแล้ว มาดูกันว่าการเริ่มต้นทำธุรกิจแฟรนไชส์ควรคำนึงถึงปัจจัยใดบ้าง

  1. กำหนดรูปแบบธุรกิจให้ชัดเจน (Business Concept)
    เจ้าของแฟรนไชส์จะต้องรู้ว่ากำลังขายอะไรให้กับลูกค้า และสินค้า/บริการของตนเองมีคุณค่า (Value) ด้านไหนบ้าง เช่น ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า สร้างความแตกต่างไปจากสินค้า/บริการในตลาด หรือส่งเสริมด้านอื่นๆ อย่างเช่น การอบรมพัฒนาทักษะของพนักงาน ที่สำคัญสินค้า/บริการนั้นต้องเพียงพอต่อความต้องการในวงกว้าง

  2. สร้างแบรนด์ที่แข็งแรง มีเอกลักษณ์ จดจำได้ง่าย (Branding)
    สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว ให้กับสินค้าและบริการ ผ่านจุดเด่นของธุรกิจที่แตกต่างจากแบรนด์อื่น เพื่อสร้างความแข็งแรงให้แบรนด์ และส่งต่อไปให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ได้อย่างมั่นใจในภาพลักษณ์ที่ดีและมาตรฐานของสินค้าและบริการ

  3. วางกลยุทธ์การตลาด
    ศึกษาตลาดที่เหมาะกับการขยายธุรกิจ ดูว่ามีกลุ่มลูกค้าใหญ่มากพอที่จะรองรับสินค้า/บริการหรือไม่ (Macro Marketing) และไม่ลืมวางแผนการตลาดเพื่อขยายกลุ่มผู้ซื้อแฟรนไชส์ให้ครอบคลุมเช่นกัน (Micro Marketing)

  4. การสร้างระบบการทำงานที่ดีและมีมาตรฐานชัดเจน
    แฟรนไชส์ที่มีศักยภาพจะต้องถ่ายทอดรูปแบบการทำงานและวัฒนธรรมการทำงานในแฟรนไชส์ให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ได้ เพื่อขยายสาขาได้โดยรักษามาตรฐานเดิม และส่งเสริมให้พนักงานมีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ และโปร่งใส เช่น จัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน สร้างระบบการฝึกอบรม และประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อให้ธุรกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ยาวนานและต่อเนื่อง

  5. ธุรกิจต้องสร้างกำไร
    เจ้าของธุรกิจต้องมีวิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจระยะยาว รู้จักวางแผนการลงทุนโดยไม่มากหรือน้อยเกินไป กำหนดโครงสร้างค่าธรรมเนียมอย่างเป็นธรรม และติดตามผลประกอบการของสาขาอย่างเป็นระบบ

  6. คัดเลือกผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่มีประสิทธิภาพ
    ให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าปริมาณ 
    - มีความน่าเชื่อถือ
    - มีแพสชั่นในการทำธุรกิจ
    - เข้าใจในระบบแฟรนไชส์
    - ใส่ใจรักษาคุณภาพสินค้าและบริการ

  7. ต่อยอดโอกาสด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
    การวางแผนการตลาดโดยพึ่งพาสื่อแบบดั้งเดิมไม่เพียงพออีกต่อไป ในยุคนี้ผู้ประกอบการจะต้องทำการตลาดออนไลน์ควบคู่กับออฟไลน์ไปด้วย และใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตอบโจทย์ของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม จึงจะสร้างโอกาสและขยายช่องทางการตลาดได้เร็วกว่าเดิม รวมทั้งเพิ่มโอกาสที่จะขยายตลาดสู่เวทีสากลอีกด้วย


eXac’Tips: 4 อุปสรรคที่ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ ‘สะดุดล้ม’
เพราะผู้ประกอบการขาด...
1. ความรู้ความเข้าใจด้านแฟรนไชส์
2.หลักการปฏิบัติ (Practice) และองค์ความรู้ (Know-how) ด้านแฟรนไชส์
3.การพัฒนาทีมงานและบุคลากรให้รองรับระบบของแฟรนไชส์
4.วิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการและพัฒนาธุรกิจเชิงกลยุทธ์ในระยะยาว

 

Most Viewed
more icon
  • นักส่งออกควรปรับตัวอย่างไร เมื่อโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

    เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก กำลังฉุดเศรษฐกิจโลกให้ถดถอยอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับธุรกิจส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองและปิดประเทศชั่วคราว ตั้งแต่ส่งออกสินค้าไม่ได้ สินค้าตกค้างในสต็อ...

    calendar icon18.05.2020
  • สินค้าอาหารไทย ยืนหยัดได้ในทุกวิกฤต

    จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศหดตัวลงทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่เป็นประเทศพึ่งพาการส่งออกเป็นสัดส่วนที่สูง ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ แต่มีสินค้าส่งออกประเภทหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบน...

    calendar icon29.05.2020
  • FOOD TRENDS 2020

    วันนี้ EXAC by EXIM BANK นำข้อมูลเทรนด์อาหารเพื่อการส่งออก ปี 2020 มาให้ผู้ประกอบการได้อัพเดท เพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตกว่าที่เคย เพราะตอนนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทำให้มูลค่าตลอดของประเภทสินค้านั้น ๆ ก็เปลี่ยนไปด้วยเ...

    calendar icon03.03.2020