ทั่วไป

ในวิกฤตมีโอกาส

ทุกวันนี้ ไม่ว่าเราจะไปที่ไหน บนถนนหรือในอาคาร เราก็จะได้มีโอกาสพบเจอกับสื่อโฆษณาที่คอยทักทายเราทุกย่างก้าว ตั้งแต่ออกจากบ้าน  เจอป้ายโฆษณาริมถนน บนอาคารก็มีป้าย ขึ้นทางด่วนก็มีป้ายโฆษณา เข้าที่จอดรถก็ยังเจอโษณาติดตามเสา แม้เวลาจะเดินทางไปต่างประเทศ พอไปจับรถเข็นกระเป๋าก็เจอกับโฆษณาที่รถเข็นอีก หรือกระทั่งส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ ก็จะเจอโฆษณาที่เค้าแรพหรือห่อกล่องบรรจุภัณฑ์อีก พอนึกภาพออกนะครับ นั่นคือสิ่งที่บริษัทแห่งหนึ่งที่กำลังจะกล่าวถึงนี้ เค้าเป็นผู้ออกแบบ ผลิต ติดตั้ง และจำหน่ายให้เราได้เห็นกันอยู่แทบจะทุกวัน บริษัท เอพริ้นท์ จำกัด นั่นเองครับ

หลายปีที่ผ่านมา บริษัทแห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นโดย คุณชัชวาล บัวสุวรรณ หรือที่หลายๆคนรู้จักกันในชื่อ คุณเอ็ม ซึ่งเติบโตขึ้นจากการรับงานพิมพ์สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ป้ายโฆษณา ป้ายร้านค้า โฆษณาในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาเก็ต โฆษณาและตกแต่งตามหน่วยงานต่างๆ ธนาคาร สถาบันการเงินต่างๆ ป้ายไฟ ชั้นวางของ ลิฟท์ ตู้สินค้า โฆษณาติดรถยนต์ โฆษณาบนรถตู้  ไปจนถึงสถานีรถไฟฟ้า รถเข็นในสนามบิน รวมทั้งขยายไปถึงงานในต่างประเทศบางส่วน ซึ่งในช่วงปกตินั้น คุณเอ็ม กรรมการผู้จัดการบริษัท กรุณาเล่าให้เราฟังอย่างอารมณ์ดีว่า ยอดการสั่งซื้อหรืองานที่เข้ามา อย่างต่ำๆเฉลี่ยเดือนละ 12-13 ล้านบาท และอยู่ในช่วงที่กำลังขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีการหารือกันในระดับผู้บริหาร ถึงการเตรียมตัวเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อรองรับการขยายงานและขยายธุรกิจออกไปยังภูมิภาคใกล้เคียง ในอนาคตอันใกล้นี

แต่ในขณะที่ทุกอย่างกำลังเดินไปได้ด้วยดี ในช่วงปลายปี 2562 เป็นต้นมา สัญญาณจากวิกฤติ โควิด19 เริ่มส่งผลกับยอดสั่งซื้อต่างๆ ซึ่งในภาวะที่ทุกธุรกิจต้องประคับประคองตัวเองให้รอดก่อน งบโฆษณาต่างๆที่เคยวางแผนไว้ ย่อมต้องถูกยกเลิกหรือเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด คุณเอ็มเล่าให้ฟังว่า จากยอด 12-13 ล้านบาท ลดลงไปเหลืออยู่เพียง 6-7 แสนบาท ทันที งานที่อยู่ในสายการผลิต ยังคงต้องดำเนินการต่อ ของที่สั่งไว้รอการผลิตก็ยังคงต้องรับมอบ เพราะSupplier ต่างๆก็ทะยอยส่งให้ตามสัญญาที่ทำไว้ ค่าใช้จ่ายยังต้องจ่าย แต่รายรับใหม่ไม่เข้า

คุณเอ็มต้องสำรองเงินสดส่วนตัว เพื่อให้พอเพียงกับค่าจ้างพนักงาน เผื่อไว้ 4-5 เดือนเพราะไม่รู้อนาคตว่าจะเป็นอย่างไร “พนักงานทุกคนของเรา เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของบริษัท ต้องดูแลเค้าให้ดี เหมือนพี่เหมือนน้อง เป็นครอบครัวเดียวกัน” คุณเอ็มกล่าว และเมื่อเราเอ่ยถึงการรัดเข็มขัดในด้านต่างๆ จะมีเรื่องการลดพนักงานด้วยหรือไม่ คุณเอ็มตอบในทันทีว่า “ผมไม่เคยคิดเรื่องนั้นนะ คิดแต่ว่าจะต้องทำอะไรได้บ้าง หรือช่วยกันทำอย่างไรให้มีรายรับเข้ามา นอกเหนือจากที่ทำอยู่ จะช่วยอะไรใครได้อย่างไรบ้างมั้ย” ระหว่างที่กำลังหาหนทางอยู่นั้น นอกเหนือจากการที่คุณเอ็มตัดสินใจสำรองเงินสดส่วนตัว เพื่อเป็นงบสำหรับเงินเดือน ค่าจ้างพนักงานและ คู่ค้าบางรายแล้ว มีเหตุการณ์ที่จุดประกายให้บริษัท เอพริ้นท์ ได้เริ่มไลน์การผลิตสินค้าชิ้นใหม่ ออกสู่ตลาด อีกอย่างหนึ่ง

เมื่อญาติของคุณเอ็ม ซึ่งเป็นพยาบาล ต้องเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลสนามแห่งหนึ่งซึ่งรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด19 และเมื่อเดินทางไปถึง ก็ได้พบว่า อุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ที่ควรจะมีนั้น มีไม่เพียงพอกับปริมาณบุคคลากร และผู้ป่วย คุณเอ็มจึงรีบสั่งการให้ไลน์การพัฒนาผลิตภัณฑ์และไลน์การผลิต เร่งศึกษาเกี่ยวกับอุปกรณ์ดังกล่าวในท้องตลาด ว่ามีคุณลักษณะที่จำเป็นอย่างไร มาตรฐานอย่างไร จนเป็นที่มาของการผลิต Face shield สำหรับแพทย์และพยาบาล จำนวนเริ่มต้น 500 ชิ้น ซึ่งเน้นว่า แผ่นพลาสติกที่ใช้จะต้องไม่เกิดฝ้าเหมือนบางแบรนด์ที่ขายกันในท้องตลาด เพราะจะทำให้ไม่สะดวกและแพทย์ต้องสัมผัสในการทำความสะอาดตลอดเวลา และจาก 500 ชิ้นแรกที่ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลสนามในครั้งนั้น จึงเป็นที่มาของการผลิตกล่องอคริลิค สำหรับตรวจผู้ป่วยติดเชื้อ อีก 12 กล่องในล๊อตที่สอง และเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น จากการบอกเล่า ปากต่อปาก ของแพทย์ พยาบาล ไปสู่โรงพยาบาลต่างๆที่ยังขาดแคลน รวมทั้งบริษัทเอกชนต่างๆที่มีความต้องการช่วยเหลือ ได้ส่งออร์เดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก จากหลักพันเป็นหมื่น เป็นแสนชิ้น   

ไลน์การตัดสติกเกอร์ ไลน์การผลิตสื่อโฆษณา ไลน์การตรวจสอบสินค้า ได้ถูกเปลี่ยนมาดำเนินการกับ Face Shield ที่มียอดสั่งเข้ามาอย่างล้นหลาม เครื่องพิมพ์หลายเครื่อง ถูกเปลี่ยนมาผลิต Face Shield รวมทั้งมีการทดลองการใช้โฟมประเภทต่างๆและพัฒนารูปทรงอื่นๆ จากการรับฟังผลการใช้งานจากแพทย์และพยาบาล ให้เหมาะสมกับการใช้งานภาคสนามมากยิ่งขึ้น นอกจากผลิตตามออร์เดอร์ที่ได้รับมาแล้ว คุณเอ็มยังผลิตเพื่อแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลนและได้รับแจ้งเข้ามาโดยไม่คิดมูลค่าอีกด้วย ซึ่งคุณเอ็มกล่าวกับเราว่า “หากไม่มีเครื่องมือที่เหมาะสมและเพียงพอ แพทย์และพยาบาลที่อยู่แนวหน้าเหล่านั้น จะดูแลผู้ป่วยได้อย่างไร วันนึงเราอาจช่วยไม่ทัน วันนึงอาจมาถึงพวกเรา ครอบครัวเรา”

จากจุดเล็กๆ จากการคิดเพียงว่าต้องการช่วยเหลือโรงพยาบาลสนามแห่งหนึ่ง จนมาถึงจุดที่ มีออร์เดอร์ กลับมามากมาย จนในขณะนี้ อยู่ระหว่างหารือกับฝ่ายผลิตฯ ในการเตรียมผลิตเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ที่เริ่มมีผู้ติดต่อเข้ามา หลายราย รวมทั้งหน่วยงานต่างๆของไทยเอง ก็เริ่มยอมรับในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้ลองใช้งาน มีออร์เดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน “แม้ว่ารายได้จากตรงนี้ จะไม่มากเท่าธุรกิจเดิม แต่อย่างน้อยก็สามารถช่วยประคับประคองให้บริษัทยังไม่เจ็บตัวมากนัก และพนักงานทุกๆคนของเรา ก็รู้สึกอิ่มใจ กับการได้เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมร่วมกันในครั้งนี้อีกทางหนึ่ง” คุณเอ็มกล่าวกับเราอย่างภูมิใจ 

 

Author : สมชนก เตชะเสน  รองผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า  ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

 

Most Viewed
more icon
  • กาแฟไทย อนาคตที่ไปได้อีกไกล

    ในปัจจุบัน แทบจะทุกมุมถนน เราจะพบว่า มีร้านกาแฟเปิดใหม่เกิดขึ้นให้เห็นจนชินตา ทั้งร้านขนาดเล็ก ร้านที่เป็นแบรนด์ไทย หรือที่เป็นสาขาจากแบรนด์ต่างชาติ มีให้นักดื่มได้เลือกชิมกันมากมาย วัตถุดิบนั้นก็สามารถสรรหาได้จากทั้งในป...

    calendar icon01.07.2020
  • จับตาส่งออกไทย หลังเลือกตั้งสหรัฐฯ

    ขณะนี้โลกกำลังจับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 59 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ย.ที่จะถึงนี้ โดยมี ‘โจ ไบเดน’ เป็นผู้ท้าชิงเก้าอีประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต และ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประธา...

    calendar icon30.10.2020
  • 5 ความพร้อมก้าวสู่ผู้ส่งออกมืออาชีพ

    ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดไปทั่วทุกมุมโลกของโควิด-19 คำว่า “นิว นอร์มอล” (New Normal) กลายเป็นคำศัพท์ยอดนิยมที่ถูกใช้กันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นภาคเศรษฐกิจ ธุรกิจ การศึกษา สังคม หรือบทสนทนาในชีว...

    calendar icon23.07.2020